xs
xsm
sm
md
lg

ธพว. อัดเงินเพิ่ม 7.5 พันล้านปล่อยกู้ OTOP-SMEs

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธพว. จับมือ 4 หน่วยงานช่วยพัฒนามาตราฐานสินค้า และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตลาดลูกค้าทั้งไทย และเทศ ให้แก่ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP-SMEs ผ่านโครงการ “สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน” วงเงิน 7.5 พันล้านบาท กำหนดเงื่อนไขวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาทแรก ผู้กู้สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันให้ก็ได้ ขณะ บสย. ชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในช่วง 4 ปีแรก ส่วนระยะเวลาการกู้ยืมกำหนดไว้ที่ 7 ปี คิดดอกเบี้ยปีที่ 1 ที่ MLR -1.5% ต่อปี และปีที่ 2 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ MLR-1.0% ต่อปี เผยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเดือนละ 1.5 พันล้านบาท คาดปล่อยกู้ได้สิ้นปี 60

วันนี้ (29 ส.ค.) นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) ได้ร่วมลงนามกับผู้บริหารระดับสูงจาก 4 หน่วย กับนายดรุณ แสงฉาย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.), นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.), และนายทวิโรจน์ ทรงกำพล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ สายการบินไทยสมายล์ บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัดเพื่อจัดทำโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ OTOP และ SMEs ติดปีก 4.0
 
โดยโครงการนี้ได้เกิดขึ้นตามโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (PGS ระยะที่ 6) ปรับปรุงใหม่ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โดย ธพว. จะทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร และช่วยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่าง ๆ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหมุนเวียนที่มีราคาถูกผ่าน อีกทั้งยังช่วยเพิ่มช่องทางด้านการตลาดเพื่อเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างทั้งไทย และต่างประเทศ มาตรฐานสินค้าที่ยอมรับได้ โดยผ่านโครงการ “สินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน” วงเงินรวม 7,500 ล้านบาท

ทั้งนี้ การให้บริการทางการเงินจะประสบความสำเร็จได้ก็ต้องช่วยพัฒนาส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีมูลค่า มีความปลอดภัยที่ดี เพื่อทำให้ผู้บริโภคสินค้ามีความปลอดภัยมีสุขอนามัยที่ดี มีมาตรฐานต่าง ๆ แต่หากไม่มีช่องทางการตลาดให้พวกเขาสามารถนำสินค้าเข้าไปขายเพื่อให้ได้เงินมากพอที่จะนำมาจ่ายคืนหนี้ได้ก็ถือเป็นเรื่องยากที่จะทำให้การให้บริการด้านการเงินประสบความสำเร็จได้ และก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่กรมท่าอากาศยาน จะเข้ามาช่วยเสริมสร้างให้สินค้าชุมชนมีช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าที่เป็นกลุ่มผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศภายในท่าอากาศยาน อีกทั้ง ยังได้ความร่วมมือจากหน่วยที่เกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของสินค้าก็ทำให้ตนเชื่อว่า สินค้าของชุมชนจะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว

สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการสินเชื่อดังกล่าวจะมุ่งเน้นเรื่องการยกระดับแบบครบวงจรให้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชน เช่น ธุรกิจที่ตั้งในแหล่งท่องเที่ยว หรือในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV) ธุรกิจที่พัก ร้านอาหาร ธุรกิจ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือน ก.ย. นี้ ธพว. ยังเตรียมที่จะขยายความร่วมมือในการสนับสนุนเงินลงทุนในธุรกิจแฟรนไชน์สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัปอีกด้วย

ส่วนหลักเกณฑ์การของสินเชื่อในโครงการสินเชื่อสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวและผู้ประกอบการท่องเที่ยวชุมชนนั้น ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดากำหนดวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 2 ล้านบาท แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือมีหนังสือรับรองจากหน่วยงานภาครัฐจะขอสินเชื่อต่อรายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนนิติบุคคลจะขอวงเงินสินเชื่อต่อรายได้ไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยวงเงิน 5 ล้านบาทแรกนั้น สามารถใช้ บสย. ค้ำประกันให้ก็ได้ ทั้งนี้ บสย. จะชดเชยค่าธรรมเนียมการค้ำประกันในช่วง 4 ปีแรก

สำหรับระยะเวลาในการกู้ยืม ธพว. จะกำหนดไว้ที่ 7 ปี กรณีใช้หลักประกันตามเกณฑ์ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1 ที่ MLR -1.5% ต่อปี, ปีที่ 2 เป็นต้นไป ให้คิดอัตราดอกเบี้ยที่ MLR-1.0% ต่อปี แต่ในกรณีที่ใช้หลักประกันตามเกณฑ์ของ บสย. คิดอัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี โดยลูกค้าจะได้รับความยกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมการค้าประกันจาก บสย. เป็นเวลา 4 ปี รวม 7% เนื่องจากรัฐบาลจะเป็นผู้ช่วยเหลือ 4% ส่วนอีก 3% จะเป็นการช่วยเหลือจาก ธพว. ทั้งนี้ ผู้กู้จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่ชำระหนี้ปกติตามเกณฑ์ของ ธพว.

ทั้งนี้ ธพว. เริ่มให้สินเชื่อตามโครงการดังกล่าวนี้มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยจนถึงปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อไปแล้วทั้งสิ้น 1.5 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยเป็นการให้วงเงินสินเชื่อต่อรายที่ 3 ล้านบาท จากจำนวนผู้กู้ 500 ราย อย่างไรก็ตาม ธพว. ตั้งเป้าว่าในแต่ละเดือน ธพว. จะปล่อยสินเชื่อได้ 1.5 พันล้านบาท และภายในปี 60 จะสามารถปล่อยสินเชื่อตามโครงการได้จนเต็มวงเงินรวมที่ 7.5 พันล้านบาท

“โครงการดังกล่าวนี้ยังจะเป็นโครงการที่จะช่วยส่งเสริมให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถนำไปสู่การสร้างรายได้ และสร้างอาชีพเพิ่มให้แก่ชุมชนได้ โดยในปีนี้เรามองว่า อัตราการขยายต้วของ SMEs น่าจะอยู่ที่ 7-8% ต่อจีดีพี หรือสูงกว่ากว่ารายได้ประชาชาติประมาณ 3.7% โดยกลุ่มท่องเที่ยว น่าจะดีสุดจากอัตราการขยายตัวในปีนี้ที่จะมีราว 8-9%” นายมงคล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น