ธพว. ลงพื้นที่ จ.สกลนคร-นครพนม เร่งช่วยเหลือเอสเอ็มอีประสบภัยน้ำท่วม พบเสียหายยับ ระบุลูกค้าธนาคารยื่นขอเข้าโครงการช่วยเหลือทางการเงินแล้วประมาณ 300 ราย คาดเยียวยาได้กว่า 1,000 ราย แจงเร่งประสานหน่วยงานเอกชนในท้องถิ่น ขับเคลื่อนสินเชื่อฟื้นฟูกิจการถึงมือผู้ประสบภัย อนุมัติด่วนได้ใน 3 วัน
นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) เปิดเผยว่า จากที่ ธพว.ได้ส่งเจ้าหน้าที่และทีมผู้บริหารลงพื้นที่เพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภาคอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดสกลนคร และจังหวัดนครพนม ที่ประสบอุทกภัย พบว่า สถานการณ์เกิดความเสียหายอย่างหนัก โดยลูกค้าของ ธพว.ในพื้นที่ดังกล่าว ที่มีจำนวนประมาณ 1,800 ราย คาดว่าจะได้รับเสียหายทุกราย มากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งเวลานี้ ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขความเสียหายที่แน่นอนได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มีลูกค้า ธพว. ได้ติดต่อเพื่อจะขอรับความช่วยเหลือทางการเงินของธนาคารแล้วประมาณ 300 ราย เฉลี่ยยื่นขอสินเชื่อประมาณ 2 ล้านบาทต่อราย และเชื่อว่า จะมียอดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้าธนาคารมาเข้าโครงการช่วยเหลือจากรัฐบาลประมาณ 1,000 ราย
“ทางธนาคารจะประชุมร่วมกับหน่วยงานเอกชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้าจังหวัด รวมถึง BIZCLUB เพื่อหารือแผนเยียวยาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลเพื่อนำไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนและฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายในเวลา 3วัน” กก.ผจก.ธพว. กล่าว
สำหรับมาตรการความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบอุทกภัยของธนาคารนั้น แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านแรกสำหรับลูกค้าเดิมของ ธพว. จะพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) พักชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) ออกมาตรการช่วยเหลือพักชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือน
อีกทั้ง เตรียมวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ สำหรับลูกค้า ธพว.ที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ เพื่อเป็นเงินทุนในการปรับปรุงฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ โดยเระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี มีระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ 1. ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้ไม่เกิน 5 แสนบาท 2. ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท 3. ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปีตลอดอายุสัญญา ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อนและสามารถใช้หลักประกันบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน
ด้านสองสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วไปที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2560 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้ธนาคารขยายระยะเวลา โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยภาคใต้ ปี 2560 วงเงิน 5,000 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเหลือ 3,500 ล้านบาท ที่จะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 7 ส.ค. 2560 นี้ ออกไปอีก 6 เดือนนับจากวันที่มติ ครม.ออก เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและภัยพิบัติทั่วประเทศให้สามารถปรับปรุง ฟื้นฟู และมีเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ โดยครอบคลุมพื้นที่ประสบเหตุในปัจจุบัน รวมทั้งอาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ
ทั้งนี้ โครงการสินเชื่อฟื้นฟู SMEs จากอุทกภัยและภัยพิบัติ ปี 2560 ปล่อยสินเชื่อแก่วงเงินกู้สูงสุดต่อรายที่ 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมตลอดโครงการไม่เกิน 7 ปี โดยปีที่ 1-3 คิดอัตราดอกเบี้ยที่ 3% และปีที่ 4-7 เป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด โดย 3 ปีแรกรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับธนาคารในอัตรา 3% คิดเป็นวงเงิน 450 ล้านบาท โดยวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *