สสว.ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนผู้ประสบภัยอุทกภัย 12 จังหวัดพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน พบมีเอสเอ็มอีที่ได้รับความเสียหาย 230,897 ราย เป็นนิติบุคคล 10,398 ราย บุคคลธรรมดา 207,672 ราย และวิสาหกิจชุมชนอีก 12,827 ราย โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การขายส่ง การขายปลีก รองลงมาคือการผลิตและการก่อสร้าง ด้าน สสว.ออกมาตรการช่วยเหลือ ปล่อยกู้วงเงิน 2 แสนบาท ไม่เกิน 1 ล้านบาท ต่อราย โดยไม่คิดดอกเบี้ย ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน
นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยเนื่องจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย จนทำให้เกิดภาวะน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลอย่างรุนแรงต่อการดำเนินชีวิต และผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ซึ่งจากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นพบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในพื้นที่ 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสกลนคร ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี หนองคาย กาฬสินธุ์ มุกดาหาร นครราชสีมา และพื้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเพชรบูรณ์ และพิจิตร ส่วนที่ภาคพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้รับความเสียหาย 230,897 ราย เป็นนิติบุคคล 10,398 ราย บุคคลธรรมดา 207,672 ราย และวิสาหกิจชุมชนอีก 12,827 ราย โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ การขายส่ง การขายปลีก รองลงมาคือการผลิตและการก่อสร้าง
สำหรับส่วนพื้นที่จังหวัดสกลนคร ซึ่งได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก จำนวน 7 อำเภอ ศูนย์บริการ SME ครบวจร (SME One-Stop Service Center หรือ OSS) ของ สสว. ได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เช่น จังหวัดสกลนคร พัฒนาชุมชน พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้า สภาอุตสาหกรรม สมาพันธ์ SME ประจำจังหวัด สำรวจผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับความเสียหายทั้งต้องหยุดกิจการและความเสียหายบางส่วน เช่น โรงงาน เครื่องจักร เครื่องมือ-อุปกรณ์ ไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งสูญเสียรายได้หรือมียอดขายลดลง โดยมีจำนวนผู้ประกอบการ SME และวิสาหกิจชุมชนได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 1,326 ราย จาก SME ที่มีทั้งสิ้น 18,690 รายใน จ. สกลนคร ประมาณว่าผลกระทบต่อรายได้ของ SME ที่อยู่ในเขตน้ำท่วมน่าจะไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ทาง สสว.มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ที่ประสบภัยน้ำท่วม ด้วยการให้กู้ยืมเพื่อฟื้นฟูกิจการ สำหรับ Micro SME และวิสาหกิจชุมชน วงเงินรายละไม่เกิน 2 แสนบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ยและไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่วน SME ขนาดย่อมสามารถยื่นขอกู้ได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่เสียดอกเบี้ยเช่นกัน เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและปรับปรุงสถานประกอบการ
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สสว.จะจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จังหวัดสกลนครเพื่อรับคำขอกู้ ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม 2560 โดยจะพิจารณาให้อนุมัติสินเชื่อเป็นกรณีเร่งด่วน ปัจจุบันผู้ประกอบการในจังหวัดสกลนครได้รับอนุมัติเงินกู้แล้ว 21 ราย คิดเป็นวงเงิน 4 ล้านบาท หรือเฉลี่ยต่อราย 190,476 บาท ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ SME ในเขตภาคเหนือและภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงเวลาต่างๆ กัน นับตั้งแต่ต้นปี 2560 ได้ยื่นขอกู้เงินแล้วเป็นจำนวนรวม 3,898 ราย
ผอ.สสว.กล่าวต่อว่า ในส่วนของข้อมูลผู้ประกอบการ SMEs ปี 2560 จากผลการสำรวจสำมะโนธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรม ปี 2560 ในเบื้องต้น และข้อมูลการจัดตั้งธุรกิจจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า จำนวนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไทยขยับอยู่ที่ 3,004,679 ราย ณ วันที่ 11 ก.ค. 2560 เทียบกับปีก่อนที่มีจำนวน 2,765,966 ราย ทำให้เพิ่มขึ้น 238,713 ราย หรือเพิ่มขึ้น 8.63% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจ โดยภาคบริการเพิ่มขึ้นมากที่สุด 135,153 ราย ตามมาด้วยภาคการค้า 80,984 ราย ภาคผลิต 16,517 ราย และภาคธุรกิจการเกษตร 6,023 ราย ในจำนวน SME ที่เพิ่มขึ้น 238,713 ราย เป็นนิติบุคคล 26,562 ราย บุคคลธรรมดา 206,464 ราย และวิสาหกิจชุมชนอีก 5,687 ราย
นอกจากนี้ ปัจจุบันตัวเลขการจ้างงานของ SME มีทั้งสิ้น 11,747,093 ราย เทียบกับปีก่อนมีทั้งสิ้น 10,751,965 ราย เพิ่มขึ้น 995,128 ราย หรือเพิ่มขึ้น 9.30% เป็นการเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นจากภาคบริการ 552,532 ราย ภาคการค้า 325,907 ราย ภาคการผลิต 113,722 ราย และภาคธุรกิจการเกษตร 2,967 ราย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ประสบภัยสามารถยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือได้ที่ Call Center 1301 หรือศูนย์ OSS หรือศูนย์ Rescue Center ในพื้นที่ ตั้งแต่บัดนี้-30 กันยายน 2560
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *