xs
xsm
sm
md
lg

SCB ร่วม บสย. ปล่อยกู้เอสเอ็มอีสูงสูด 300% ตั้งเป้า 1.2 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารไทยพาณิชย์ ขานรับนโยบายรัฐบาล เร่งเดินหน้าโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอีทวีทุน โดยร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ปล่อยวงเงินสินเชื่อสูงสุด 300% ของราคาประเมินหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนชำระนานสูงสุด 10 ปี พร้อมลดภาระต้นทุนทางการเงิน ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อ บสย. 4 ปีแรก และมอบส่วนลดอัตราดอกเบี้ยสูงสุด 1% สำหรับวงเงินกู้ในส่วนของ บสย. ตั้งเป้าสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ 12,000 ล้านบาท

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในนสถาบันการเงินที่เข้าร่วม “โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน (Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 6) ปรับปรุงใหม่” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ธนาคารได้เตรียมวงเงินสินเชื่อสำหรับโครงการดังกล่าว จำนวน 12,000 ล้านบาท โดยธนาคารจะรับภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) 1.75% ต่อปี ในระยะ 4 ปีแรก แทนลูกค้า

ธนาคารยังร่วมกับ บสย. ผลักดันนโยบายภาครัฐช่วยปลดล็อกเอสเอ็มอีสู่การขยายธุรกิจให้สามารถเติบโตโดยไม่สะดุด ด้วยการให้วงเงินสินเชื่อสูงขึ้นสำหรับลูกค้าที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันไม่เพียงพอในการขยายธุรกิจให้ได้วงเงินสินเชื่อสูงสุดถึง 300% ของราคาประเมินหลักประกัน พร้อมลดภาระค่าใช้จ่าย โดยฟรีค่าธรรมเนียม บสย. 4 ปีแรก และลดดอกเบี้ยสูงสุด 1% สำหรับลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ทวีทุน

นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ยังจัดแคมเปญพิเศษ “ย่อ ยืด ขยาย” โปรแกรมพิเศษเพิ่มเติมสำหรับเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือด้านเงินทุนให้เอสเอ็มอี สามารถต่อยอดธุรกิจด้วยสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ โดยลูกค้าจะได้รับวงเงินกู้เพิ่ม 10% ของราคาประเมินหลักประกัน และขยายระยะเวลาผ่อนสูงสุด 2 ปี ทั้งนี้ แนวทางที่ธนาคารออกมาจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นด้วย

“เป้าหมายของธนาคารไทยพาณิชย์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การผลักดันให้เอสเอ็มอีไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน โดยเราพร้อมให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนเอสเอ็มอีในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างครบวงจร”
กำลังโหลดความคิดเห็น