xs
xsm
sm
md
lg

อย่าผลีผลามเก็บหุ้น “เพช”/สุนันท์ ศรีจันทรา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


     ใครที่ได้อ่านคำสัมภาษณ์ของนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น SCB ที่พูดถึงบริษัท เพช ดีเวลล็อปเม้นท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น PACE คงมีความรู้สึกเหมือนกันว่า
     นายอาทิตย์ดูเหมือนกับสวมบทบาทผู้บริหารของ “เพช” เพราะชี้แจงปัญหาต่างๆของบริษัทจดทะเบียนแห่งนี้ในแทบทุกประเด็นข้อสงสัย อธิบายได้แม้กระทั่งกรณีที่ผู้ตรวจสอบบัญชีไม่รองรับงบการเงินงวด 6 เดือนแรกปี 2560 แถมยังแจกแจงแหล่งที่มาของรายได้จากโครงการต่างๆ อย่างฉะฉาน
     “เพช” ไม่ได้เป็นลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ แต่ธนาคารพาณิชย์ เป็นสถาบันการเงินหลักที่ปล่อยกู้ให้ “เพช” นายอาทิตย์จึงต้องดูแลลูกหนี้รายนี้เป็นอย่างดี ถึงขั้นยืนยันในความสามารถชำระหนี้
     ผู้บริหาร “เพช”ควรจะต้องมอบดอกไม้ช่อใหญ่ๆ แสดงความขอบคุณกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ช่วยแก้ต่าง ช่วยกอบกู้ภาพพจน์ของบริษัทฯ เรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนบางส่วนกลับมา และทำให้ราคาหุ้น “เพช”เมื่อวันอังคารที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมาดีดตัวแรงกว่า 7%

     หุ้นเพชเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 หลังจากนำหุ้นเสนอขายนักลงทุนทั่วไปในราคาหุ้นละ 3.50 บาท (พาร์1บาท) โดยหุ้นบางส่วนต้องคะยันคะยอขาย เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก เพราะกำหนดราคาสูงเกินไป
     เมื่อเข้าซื้อขายวันแรกจึงถูกถล่มขาย โดยมีข่าวว่า ผู้ถือหุ้นเดิมที่ไม่ติดเงื่อนไขช่วยเวลาห้ามขายหุ้น ได้ทิ้งหุ้นออกมา ทำให้ราคาหุ้นรูดลงต่ำกว่าจอง หลายสิบเปอร์เซนต์ นักลงทุนที่ซื้อไว้บาดเจ็บตามๆกัน
     บริษัท เพช ดีเวลล็อปเม้นท์ฯ ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ เป็นเจ้าของโครงการมหานคร บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นเจ้าของโครงการอีกหลายแห่ง มีธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มกูร์เม่ต์
      “เพช”อยู่ในข่ายหุ้นที่เคลื่อนไหวหวือหวาในบางช่วง โดยรอบ 12 เดือนเคยลงไปต่ำสุดที่ 1.98 บาท สูงสุดที่ 4.10 บาท และเป็นบริษัทจดทะเบียนอีกแห่งหนึ่งที่เพิ่มทุนถี่ โดยปี 2558 เพิ่มทุน 4 ครั้ง ปี 2559 เพิ่มทุนอีก 3 ครั้ง

     จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย “เพช” มีทั้งสิ้น3,779 ราย ถือหุ้นร่วมกันสัดส่วน47.57%ของทุนจดทะเบียน โดยกลุ่มเตชะไกรศรีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
     ผลประกอบการ “เพช” ขาดทุนติดต่อหลายปี เพิ่งจะมีกำไรงวด 6 เดือนแรกปีนี้ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น4,734 ล้านบาท แต่ไตรมาส2 มีการบันทึกผลกำไร5,492 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการรับรู้ส่วนต่างกำไรของเงินลงทุนในกิจการร่วมคาด้วยมูลค่ายุติธรรมกับมูลค่าตามบัญชี โดยมูลค่ายุติธรรมเกิดจากการประเมินของบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ

     การรับรู้ส่วนต่างกำไรของเงินลงทุนจำนวน5,492 ล้านบาท ทำให้ผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน2560 จนตลาดหลักทรัพย์สั่งขึ้นเครื่องหมายเอสพี พักการซื้อขายหุ้น “เพช” เมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา และขึ้นเครื่องหมายเอ็นพีวันที่ 17 สิงหาคม ก่อนจะสั่งปลดเครื่องหมายเอสพีวันที่ 17 สิงหาคม
     ตอนนี้หุ้นเพชถูกขึ้นเครื่องหมายเอ็นพี จนกว่าจะนำส่งงบการเงินฉบับแก้ไขหรือจนกว่าจะได้ข้อสรุปว่า ไม่ต้องแก้ไขงบการเงิน
      ผลประกอบการ “เพช”ที่พุ่งพรวดงวด 6 เดือนแรก เกิดจากการรับรู้กำไรรายการพิเศษ จนทำให้ค่าพี/อี เรโชเหลือเพียง 2 เท่าเศษ ซึ่งถ้าไม่พิจารณารายละเอียดในงบการเงิน จะดูเหมือนว่า หุ้นตัวนี้กำลังฟื้นตัวกลับ เป็นหุ้นถูก จนน่าช้อนเก็บไว้
 
     แต่ถ้าดูรายละเอียดเนื้อในงบการเงินงวด 6 เดือนแรก ซึ่งผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปงบฯ จะเห็นว่า หุ้นตัวนี้ยืนอยู่บนความคาดหวังรายได้ที่จะเข้ามาในอนาคต โดยเฉพาะความคาดหวังรายได้ที่จะเข้ามาเป็นกอบเป็นกำในปีนี้
     อย่างไรก็ตาม 6 เดือนแรกผ่านไป งบการเงิน“เพช”ยังไม่ได้พิสูจน์ว่า ผลดำเนินงานได้กลับพลิกฟื้นแล้ว เพราะถ้าตัดรายการพิเศษการรับรู้ส่วนต่างกำไรจากเงินลงทุน ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขมูลค่ายุติธรรมที่บริษัทที่ปรึกษาการเงินอิสระประเมินไว้ ผลประกอบการจริงยังขาดทุนอยู่
     นักลงทุนที่เริ่มหันมาสนใจ “เพช” จึงต้องยับยั้งชั่งใจ อย่าได้ผลีผลามไล่เก็บหุ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น