xs
xsm
sm
md
lg

อุปสงค์ทองคำประจำไตรมาส 2 ของปี 2017

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สภาทองคำโลก (WGC) รายงานว่า อุปสงค์ทองคำทั่วโลกในไตรมาสไตรมาส 2 ของปีนี้อยู่ที่ 953.4 ตัน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 10% ทำให้ครึ่งปีแรกของปีนี้อุปสงค์ทองคำชะลอตัวลง 14% สู่ระดับ 2,003.8 ตัน เป็นผลมาจากกระแสเงินทุนที่ไหลเข้า ETF ทองคำในปีที่แล้วอยู่ในระดับสูง ขณะที่ปีนี้อุปสงค์ทองคำสำหรับ ETF ชะลอตัวอย่างมาก ธนาคารกลางซื้อสุทธิ 176.7 ตัน ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเล็กน้อยราว 3% ในทางกลับกัน อุปสงค์ทองคำในด้านทองคำแท่ง และเหรียญทองปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับอุปสงค์ทองคำด้านเครื่องประดับซึ่งปรับตัวสูงขึ้น ถึงแม้จะยังอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวก็ตาม

อุปสงค์ทองคำจะประกอบไปด้วยความต้องการจาก 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ ภาคเครื่องประดับ ภาคเทคโนโลยี ภาคการลงทุน และภาคธนาคารกลางและสถาบันการเงิน โดยประเทศอินเดีย และประเทศจีน เป็น 2 ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของอุปสงค์ทองคำ ทั้งนี้ อุปสงค์ทองคำถือเป็นปัจจัยที่สร้างเสถียรภาพให้แก่ราคาทองคำมาเป็นระยะเวลาหลาย 10 ปี และถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำในช่วงปีที่แล้วปรับตัวขึ้นอีกด้วย

โดยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ อุปสงค์ทองคำภาคการลงทุนใน ETF ทองคำจะชะลอตัวลงอย่างมากจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ระดับการถือครองทองคำของกองทุน ETF ทั้งหมดยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยกองทุน ETF ทองคำมีการถือครองทองคำเพิ่มขึ้น 56 ตันในไตรมาส 2 ทำให้ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้มีกระแสเงินทุนไหลเข้ากองทุน ETF รวม 167.9 ตัน โดยเฉพาะกองทุน ETF ในยุโรป เกิดกระแสเงินทุนไหลเข้าที่แข็งแกร่งที่สุด และส่งผลให้การถือครองของกองทุน ETF ในยุโรปพุ่งขึ้นสู่ระดับ 977.7 ตัน

ในขณะที่อุปสงค์ทองคำภาคการลงทุนในด้านทองคำแท่ง และเหรียญทองคำปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยในไตรมาส 2 อุปสงค์เพิ่มขึ้น 13% จากช่วง Q2/2016 ทำให้ตลอดครึ่งปีแรกของปีนี้อุปสงค์ด้านทองคำแท่ง และเหรียญทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% นำโดยแรงซื้อจากทางตุรกี ซึ่งได้รับแรงกตระตุ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งกระตุ้นให้อัตราเงินเฟ้อของตุรกีพุ่งขึ้นสู่ระดับตัวเลข 2 หลัก และส่งผลต่อเสถียรภาพของสกุลเงิน

สำหรับอุปสงค์ทองคำภาคเครื่องประดับปรับตัวสูงขึ้นจากปี 2016 ที่อุปสงค์ด้านดังกล่าวซบเซาอย่างมาก อย่างไรก็ดี ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในระยะยาวเล็กน้อย โดยอินเดียเป็นผู้บริโภคหลักที่ช่วยผลักดันให้อุปสงค์ทองคำภาคเครื่องประดับปรับตัวสูงขึ้น 8% ใน Q2 ของปีนี้ ขณะที่ธนาคารกลางยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อเนื่องแต่ปรับตัวลงจากปีที่แล้ว โดยธนาคารกลางต่างๆ ซื้อทอง 94.5 ตันในไตรมาส 2

ขณะที่ตุรกี รัสเซีย และคาซัคสถาน มีปริมาณทองคำสำรองมากขึ้น สิ่งที่น่าสนใจคือธนาคารกลางตุรกี เพิ่มการถือครองทองคำในไตรมาสล่าสุด และถือเป็นการซื้อครั้งแรกตั้งแต่ปี 1980 ส่วนอุปสงค์ทองคำด้านเทคโนโลยีปรับตัวสูงขึ้น 3 ไตรมาสติดต่อกัน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 2% สู่ระดับ 81.3 ตัน การเติบโตใน wireless charging และการพัฒนาขึ้นของภาคส่วนที่ต้องใช้ LEDs กระตุ้นอุปสงค์ให้ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ การโทรศัพท์มือถือ smartphone รุ่นใหม่หนุนการผลิตชิปอีกด้วย

นักลงทุนอาจต้องติดตามต่อเนื่องสำหรับอุปสงค์ทองคำในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ว่าจะเป็นเช่นไร ขณะที่นายอลิสแตร์ ฮิววิต ผู้อำนวยการฝ่าย market intelligence ของ WGC คาดว่าอุปสงค์ทองคำทั้งหมดในปีนี้จะอยู่ที่ราว 4,200-4,300 ตัน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 4,337.5 ตันในปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 2013 ทั้งนี้ หากอุปสงค์ทองคำชะลอตัวลงอาจทำให้ราคาทองคำขาดปัจจัยที่สร้างเสถียรภาพให้แก่ราคา แต่หากอุปสงค์ทองคำฟื้นตัวกลับสู่ปริมาณปกติ หรือปรับตัวขึ้นจากปีที่แล้ว ก็จะสร้างแรงหนุนเพิ่มเติมให้แก่ราคาทองคำได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น