“กึ้ง เฉลิมชัย” หัวเรือใหญ่ “โทรีเซนไทย” กร้าวจะพลิกขาดทุนเป็นกำไรให้ได้ภายในปีนี้ หลังขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน เผยปรับกลยุทธแผนการเดินเรือใหม่หมด พร้อมทุ่มงบซื้อธุรกิจขนส่ง-อาหารเข้าหนุน หวังเพิ่มรายได้บริษัท
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA กล่าวถึงแผนธุรกิจในครึ่งหลังของปี 2560 ว่า บริษัทคาดการณ์ว่า ผลประกอบการปีนี้จะพลิกกลับมามีกำไรได้ สาเหตุุมาจากการที่ค่าระวางเรือได้มีปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดขึ้นมาอยู่ที่ 8,614 เหรียญสหรัฐต่อวัน ทำให้ครึ่งปีแรกบริษัทฯ มีกำไรแล้ว 301.93 ล้านบาท หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทฯ ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน
“ค่าระวางเรือตกต่ำอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในรอบ 30 ปี โดยเมื่อ เดือนกุมภาพันธ์ปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 4,000 เหรียญสหรัฐต่อวันเท่านั้น ซึ่งต้นทุนเฉลี่ยของธุรกิจนี้อยู่ที่ระดับราคา 5,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน ส่งผลให้หลายบริษัทมีการขาดทุนอย่างหนักจนทำให้ต้องปิดกิจการเป็นจำนวนมาก ซึ่งในปีนี้เราประเมินว่า อัตราค่าระวางเรือในปีนี้จะอยู่ที่ระดับราคาประมาณ 9,000 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 100% เทียบจากปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 5,000 เหรียญสหรัฐต่อวันเท่านั้น สาเหตุมาจากการที่อุปสงค์และอุปทาน ธุรกิจเรือเทกองเริ่มกลับเข้าสู่สถานะการณ์ปกติ หลังผู้ประกอบการหลายรายปิดกิจการลงในที่ค่าระวางเรือตกต่ำ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าต่อจากนี้ไปอีก 2-3 ปี อัตราค่าระวางเรือจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธโดยเตรียมที่จะลดสัดส่วนรายได้ธุรกิจหลักที่มาจากการเดินเรือ และการให้บริการวิศวกรรมใต้น้ำลงเหลือเพียง 40% ภายในปี 2563 เพราะมีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของการควบคุมความผันผวนของค่าระวางเรือและราคาน้ำมัน และราคาการแข่งขันในตลาดโลก
“เราประเมินว่า ในปี 2563 สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะปรับเปลี่ยนไปโดยธุรกิจเดินเรือ และการให้บริการด้านวิศวกรรมใต้น้ำ จะอยู่ที่ 40% ขณะที่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม จะเพิ่มเข้ามาเป็น 30% ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและปุ๋ย อยู่ที่ 20% และธุรกิจอื่น ๆ อีก 10% จากเดิมในปัจจุบันที่รายได้จากธุรกิจเดินเรือและบริการวิศวกรรมใต้น้ำ อยู่ที่ 60% ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมการเกษตรและปุ๋ย อยู่ที่ 20% ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ที่ 15% ส่วนที่เหลือเป็นธุรกิจอื่น ๆ”
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน บริษัทได้มีการเข้าเจรจาเพื่อลงทุนซื้อกิจการอยู่หลายรายการ โดยจะเน้นหนักไปในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ตลอดจนถึงธุรกิจลอจิสติกส์ ตลอดจนถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำประปา โรงไฟฟ้า เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถสรุปความชัดเจนได้ โดยจะเงินลงทุนจากเงินสดหมุนเวียนในบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีเงินสดในมือกว่า 7,600 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ยึดหลักนโยบายการลงทุน ในทุกธุรกิจที่จะลงทุนจะต้องมีผลตอบแทน (IRR) เป็นตัวเลขอย่างน้อย 2 หลักขึ้นไป นอกเหนือจากนี้ ยังเล็งที่จะเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป โดยได้กันส่วนเงินลงทุนไว้อีกต่างหาก ประมาณ 300 ล้านบาท โดยระหว่างนี้อยู่ในช่วงของการศึกษาว่า เทรนด์อุตสาหกรรมไหนในกลุ่มสตาร์ทอัป ที่จะมีโอกาสเติบโต โดยไม่จำกัดประเภทของธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุน
ทั้งนี้ ในส่วนของการเข้าซื้อกิจการ พิซซ่า ฮัท ที่บริษัทฯ ได้ลงทุนไปประมาณ 300-500 ล้านบาท โดยในปีนี้บริษัทฯ ได้วางแผนการที่จะขยายสาขาเพิ่มให้ได้อีกอย่างน้อย 100 สาขา ภายในปี 2563 และจะเน้นกระจายสาขาใหม่ไปยังต่างจังหวัดให้มากขึ้น