ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน หรือ FETCO อีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” ผลจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคส่งออก และท่องเที่ยว ขณะนักลงทุนบางส่วนกังวลการฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับภูมิภาค เฝ้าติดตามนโยบายทางการเงินของเฟด ส่วนดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเล็กน้อย
ดร. สันติ กีระนันทน์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2560 “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย อยู่ในภาวะทรงตัวจากความเชื่อมั่นภาพรวมภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัวขึ้น โดยเฉพาะภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว ขณะที่นักลงทุนบางส่วนกังวลภาวะเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เมื่อเทียบกับตลาดในภูมิภาค และเฝ้าติดตามทิศทางนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายอัตราดอกเบี้ย และการลดขนาดงบดุลของสหรัฐฯ สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนีฯ เคลื่อนไหวปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงเดือนที่ผ่านมา” โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2560) อยู่ที่ 104.01 อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนีระหว่าง 0-200) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.99% จากเดือนที่ผ่านมาที่ 100.01
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อนแรง ขณะที่กลุ่มนักลงทุนรายบุคคล ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย กลุ่มสถาบันภายในประเทศ ปรับตัวลดลงเล็กน้อย อยู่ในระดับทรงตัวเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า และกลุ่มบัญชีนักลงทุนต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากระดับร้อนแรงมาอยู่ที่ระดับทรงตัว
หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ส่วนหมวดแฟชั่น (FASHION) เป็นหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด
ปัจจัยหนุนและปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ
“ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยดัชนีฯ ของสหรัฐฯ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์จากภาพรวมเศรษฐกิจฟื้นตัว และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตขึ้นโดยเฉพาะหลักทรัพย์ในกลุ่มเทคโนโลยี ภาวะเศรษฐกิจของโลกโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นเล็กน้อย เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มเติบโตเป็นไปตามคาดการณ์ แม้ว่ายังอยู่ระหว่างการดำเนินนโยบายทางการเงินเข้มงวด เพื่อควบคุมความเสี่ยงด้านสินเชื่อ ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปเริ่มมีทิศทางที่ดัขึ้น และมีแนวโน้มจะเริ่มทยอยลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงเฝ้าติดตามปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะทิศทางการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการลดขนาดงบดุลของสหรัฐฯ รวมถึงการทยอยลดการกระตุ้นเศรษฐกิจยูโรโซน สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และนโยบายการลงทุนของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนสำหรับการลงทุน”
นายสุรัตน์ จิรจรัสพร หัวหน้าฝ่ายบริการราคาตราสารหนี้และพัฒนาผลิตภัณฑ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนสิงหาคม 2560 “ผลจากดัชนีคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ระดับ 1.50% ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และ 10 ปี คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ความเชื่อมั่นค่อนข้างลดลงจากการคาดการณ์ครั้งที่แล้ว โดยปัจจัยหลักมาจากอุปทานในตลาดตราสารหนี้ระยะยาว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนสิงหาคมนี้ อยู่ที่ระดับ 49 สะท้อนว่าตลาดยังคงเชื่อมั่นว่า กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมที่ 1.50% จากปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1) แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำภายใต้กรอบนโยบาย และ 2) แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในระดับค่อยเป็นค่อยไป
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ในช่วงประชุม กนง. รอบเดือนกันยายน (ประมาณ 9 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 74 และ 75 ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากครั้งที่แล้ว (ระดับ 84 และ 83 ตามลำดับ) สะท้อนว่า ตลาดมีความเชื่อมั่นน้อยลง ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั้ง 2 รุ่นอายุจะมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปัจจุบัน ปัจจัยหลัก 2 ประการ ได้แก่ 1) อุปทานในตลาดตราสารหนี้ระยะยาวที่จะมีการประมูลเพิ่มขึ้น และ 2) การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างทรงตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งถือว่าแย่กว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลก รวมทั้งตลาดในภูมิภาคพอสมควร ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่ได้มีปัจจัยบวกขับเคลื่อนที่ชัดเจน การบริโภคในประเทศยังค่อนข้างซบเซา ส่วนที่สามารถเป็นความหวังของเศรษฐกิจได้ จะมาจากภาคการท่องเที่ยว การเดินหน้าเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาล และการเปิดประมูลโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่ออกมามากขึ้น การบริโภคภาคเอกชนนั้น อาจจะยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนด้านบวกที่มีนัยสำคัญ แม้ราคาข้าวจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่ผลที่เห็นต่อการบริโภคก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ เพราะราคาข้าวตกต่ำมานาน ทำให้เกษตรกรที่รายได้เพิ่มขึ้น คงต้องเร่งนำเงินไปชำระหนี้ก่อน ขณะที่สินค้าเกษตรอื่น ๆ อย่าง ยาง ปาล์ม น้ำตาล ก็ราคาลดลงจากช่วงต้นปี ความหวังจึงอยู่ที่ โครงการ EEC ที่อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยก็เป็นได้ ซึ่งต้องติดตามผลกันต่อไป แต่ก็ยังไม่น่าจะเห็นผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยภายนอกที่นักลงทุนให้ความสำคัญ ได้แก่ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการปรับลด Balance sheet ของ US และการลด QE ของยุโรป ซึ่งอาจจะกดดันบรรยากาศของตลาดหุ้นได้
ด้วยเหตุดังกล่าว ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังจึงยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่มาดึงดูดการลงทุน นอกจากนี้ กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยโดยรวมในปัจจุบันยังเติบโตอยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยคาดว่า กำไรต่อหุ้น (EPS) โดยรวมของตลาดจะโต 4% เท่านั้นในปี 2560 ก่อนจะเร่งตัวขึ้นเป็น 10% ในปีหน้า ด้วยผลของมาตรการรัฐต่อภาคเศรษฐกิจ และ Earnings ของบริษัทจดทะเบียนน่าจะเริ่มเห็นผลในปีหน้าเป็นต้นไป
ปัจจุบัน นักลงทุนไม่ได้ให้ความคาดหวังอะไรมากนักกับตลาดหุ้นไทย และผลประกอบการในไตรมาส 2 ที่กำลังทยอยประกาศกันออกมา ก็น่าจะยังไม่ค่อยเห็นความก้าวหน้ามากนัก ซึ่งราคาหุ้นก็ได้ตอบสนองไปบ้างแล้วระดับหนึ่ง หุ้นบางกลุ่มที่ตลาดมองว่า ผลประกอบการจะไม่ค่อยดี เช่น กลุ่มค้าปลีก ราคาหุ้นก็ไม่ได้ปรับตัวลงอีก ซึ่งสำหรับตลาดที่นักลงทุนให้ความคาดหวังไม่สูง เมื่อมีสัญญาณที่ดีขึ้น หุ้นก็สามารถปรับตัวขึ้นได้
ดังนั้น ถึงแม้เศรษฐกิจโดยรวมจะยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ก็มีบริษัทบางแห่งที่ยังมีการเติบโตของกำไรได้ เช่น กลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งนักลงทุนคงจะจับตาการฟื้นตัวของผลประกอบการรายบริษัท และเลือกลงทุนหุ้นเป็นรายตัวไป ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมคงยังต้องรอดูในครึ่งหลังของปีนี้จนถึงปีหน้า ทั้งนี้ คาดว่ากลุ่มหุ้นที่อาจจะมีการฟื้นตัวถ้าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ วัสดุก่อสร้าง บริโภค ส่วนกลุ่มที่ยังสามารถเติบโตในระยะยาวโดยอิงกับเศรษฐกิจไม่มากนัก ได้แก่ กลุ่ม Healthcare และ Renewable Energy