“สมชัย สัจจพงษ์” เผยคลังเตรียมชงมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยให้ ครม. พิจารณาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ คาดใช้งบประมาณก้อนแรก 4 หมื่นล้านบาท ส่วนแผนจ่ายเงินสมบทแก่ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี ยังต้องรอพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม หวั่นให้ช่วยเหลือซ้ำซ้อน พร้อมเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของคนจน 1.3 ล้านราย มูลหนี้ 8 หมื่นล้านบาท
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการจัดทำมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐว่า กระทรวงการคลังจะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ โดยคาดจะใช้งบประมาณก้อนแรก 40,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนมาตรการที่กระทรวงการคลังเคยดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายน้ำประปา-ค่าไฟฟ้า รถเมล์-รถไฟฟ้าฟรี และโครงการธงฟ้า
ส่วนมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือต่ำกว่าเส้นความยากจน โดยกระทรวงการคลังจะนำแนวคิดเรื่องผู้มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์ยากจนจะไม่ต้องจ่ายภาษี แต่จะยังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล (Negative Income Tax) มาใช้นั้น ขณะนี้ยังต้องพิจารณารายละเอียดแนวทางการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจน เหมาะสม และป้องกันความช่วยเหลือที่อาจจะซ้ำซ้อนกับกระทรวงอื่น ๆ อีกทั้ง ยังต้องพิจารณาข้อมูลจำนวนผู้มีรายได้น้อยที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติด้วย
ทั้งนี้ โดยหลักการแล้วผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปีนั้น จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เพิ่มด้วย โดยระหว่างบุคคลนั้นยังคงมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปีนั้น กระทรวงการคลังจะค่อย ๆ จ่ายเงินสมทบให้เป็นราย 2 เดือนหรือราย 3 เดือน เพื่อคอยดูพฤติกรรม และความก้าวหน้าหลังการฝึกอบรมอาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้บุคคลนั้น ๆ สามารถหลุดพ้นจากเส้นความยากจนได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือว่าเป็นความสำเร็จของโครงการ
นายสมชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการพิจารณามาตรการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของผู้มีรายได้น้อยว่า ปัจจุบันมีคนจนที่เป็นหนี้นอกระบบอยู่ประมาณ 1.3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้รวมดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้าน ซึ่งกระทรวงการคลังจะเน้นใช้นโยบายเชิงรุก ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัดออกไปหาคนกลุ่มนี้ได้เลย เพราะทราบชื่อ และที่อยู่แล้ว โดยไม่ต้องรอให้เขาเข้ามาหาเพื่อขอเจรจาปรับปรุงโครงสร้างหนี้นอกระบบผ่านกลไกของธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อดำเนินการแก้ไขหนี้นอกระบบให้หมดไปจากประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ ยังได้สั่งให้คณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ประกอบด้วยหน่วยงานของกระทรวงการคลัง เช่น กรมสรรพากร, กรมสรรพสามิต, คลังจังหวัด, ธนารักษ์, สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ, หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด หาชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เช่น เปิดพื้นที่ขายของฟรีจนถึงสิ้นปีนี้ เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้า ขายสินค้าเพิ่มรายได้ให้ตนเอง
ขณะเดียวกัน ยังมีแนวคิดที่จะกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยพัฒนาสุขอนามัยของสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละแห่งให้สะอาด และเพิ่มศักยภาพของคนในจังหวัดให้มีความรู้ภาษาอังกฤษ หรือสร้างเป็น Smart City ซึ่งทั้งหมดจะเป็นงบประมาณของแต่ละท้องถิ่นเอง ไม่ได้ของบประมาณเพิ่ม จึงไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา