“คลัง” สั่งหน่วยงานระดับจังหวัดเร่งประสานผู้ว่าฯ เพื่อคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดเป็นการด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัด ยังยากลำบากรายได้น้อยไม่พอใช้จ่าย ทำให้รู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้น ทั้งที่การขยายตัวเศรษฐกิจภาพรวมขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้สั่งการคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) ซึ่งมีคลังจังหวัดของบัญชีกลางเป็นประธาน และหน่วยงานของกระทรวงการคลังต่าง ๆ รวมถึงสถาบันการเงินของรัฐ ร่วมอยู่ในคณะกรรมการนี้ให้เร่งประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัดเป็นการด่วน เนื่องจากเศรษฐกิจฐานรากโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในต่างจังหวัด ยังยากลำบากรายได้น้อยไม่พอใช้จ่าย ทำให้รู้สึกว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ดีขึ้น ทั้งที่การขยายตัวเศรษฐกิจภาพรวมขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง
สำหรับมาตรการอันดับต้น ๆ ที่ให้ คบจ. ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการ คือ การเปิดให้สถานที่ราชการ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาขายของได้ฟรีไปจนถึงสิ้นปี เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนในแต่ละจังหวัดมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ให้ คบจ. ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีงบลงทุนเหลืออยู่มากที่ยังไม่ได้ใช้ ให้นำมาลงทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวท้องถิ่น เพื่อให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนมากขึ้น เป็นต้น
“มาตรการนี้ไม่ใช่นโยบายของรัฐบาล แต่เป็นแนวคิดของกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รายงานให้ รมว.คลังรับทราบแล้ว และให้ดำเนินการได้ เพื่อทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัดมากที่สุดโดยให้ อบจ. ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดให้ออกเป็นชุดมาตรการ มีมาตรการหลายอย่าง ไม่ควรมีอย่างเดียว เพราะจะไม่มีพลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ” นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ยังได้ให้ คบจ. ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด หามาตรการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไปพร้อมกันด้วย เช่น การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งอยากให้แต่ละจังหวัดประกาศว่า ในจังหวัดจะไม่มีหนี้นอกระบบเลยภายในสิ้นปีนี้ โดยการช่วยให้ลูกหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ หรือพิโกไฟแนนซ์ ทำให้ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยโหด ลดภาระการชำระหนี้ไปได้มาก ทำให้มีเงินเหลือมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังได้ให้แนวคิด คบจ. ไปหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด จัดทำถนนไร้เงินสด ซึ่งเป็นการสนับสนุนการใช้เงินอิเล็กทรกนิกส์ เช่น ระบบพร้อมเพย์ และบัตรเดบิต ชำระค่าสินค้าบริการ ซึ่งให้ประสานกับธนาคารของรัฐลงให้ลงไปช่วยติดตั้งเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีซี) ซึ่งหากทำได้หลาย ๆ จังหวัด ก็จะช่วยสนับสนุน และประชาสัมพันธ์ โครงการอีเพย์เมนต์ของรัฐบาลได้อีกมาก