เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากปลายสัปดาห์ก่อน ตลาดฯ กังวลนโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯเกิดยาก ขณะที่นโยบายทางการเงินเฟดยังไม่ชัดเจน รอการการประชุมรอบ 25-26 ก.ค. นี้ กสิกรฯคาดสัปดาห์นี้แกว่งอยู่ในกรอบ 33.30-33.70 ด้านกรุงศรีฯ ประเมิน 33.25-33.60
นักบริหารเงิน ธนาคารพาณิชย์ ระบุค่าเงินบาทวันนี้เปิดตลาดที่ระดับ 33.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องจากระดับปิดปลายสัปดาห์ก่อนที่ 33.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และระดับเดียวกับสัปดาห์ก่อนที่เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 26 เดือนครั้งใหม่ที่ 33.42 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐหลังจากที่ตลาดมีความกังวลด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีความเป็นไปได้น้อยที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นได้
ธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ 33.30-33.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจุดสนใจของตลาดน่าจะอยู่ที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (25-26 ก.ค.) และประเด็นทางการเมืองในสหรัฐฯ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ (เบื้องต้น) เดือน ก.ค. ยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือน มิ.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือน พ.ค. และจีดีพี ประจำไตรมาส 2/2560
ด้านกลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่ามีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.25-33.60 ต่อดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 33.45 ต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังมีแรงขายดอลลาร์สหรัฐต่อเนื่อง และเงินบาททำสถิติแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 ทั้งนี้ นับตั้งแต่ต้นปี 2560 เงินบาทแข็งค่าราว 7% ซึ่งเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในอาเซียน และแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากเงินวอนเกาหลีใต้ในสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย และพันธบัตรมูลค่า 100 ล้านบาท และ 2.0 พันล้านบาทตามลำดับ
ทั้งนี้ แม้ว่าธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระมัดระวังอย่างมาก และเลือกที่จะส่งสัญญาณให้น้อยที่สุดเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวเชิงนโยบายในระยะถัดไป แต่แถลงการณ์ล่าสุด บ่งชี้ว่า มีโอกาสสูงที่อีซีบี จะประกาศการเริ่มลดขนาดมาตรการ QE ในเดือนตุลาคม ซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุล ขณะที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สัปดาห์นี้ ตลาดไม่ได้คาดหวังว่าจะมีการปรับนโยบาย เนื่องจากเฟดเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนมิถุนายน แต่นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประเมินภาวะเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในปีนี้หรือไม่ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนปรับลดขนาดงบดุลของเฟด นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามความคืบหน้ากรณีวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน พยายามผ่านร่างกฎหมายระบบประกันสุขภาพ ซึ่งประสบความล้มเหลวเมื่อสัปดาห์ก่อน
สำหรับปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบจำกัดต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย และมั่นใจว่า ยอดส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 5% ขณะที่ ธปท. กล่าวว่ามีการเข้ามาดูแลค่าเงินบาท แต่ไม่มากนัก เพราะสาเหตุหลักที่เงินบาทแข็งมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดโลกที่อ่อนค่า นอกจากนี้ ทางการประเมินว่า ปัญหาแรงงานต่างด้าวจะเป็นความเสี่ยง และเป็นปัจจัยที่ทำให้ ธปท. ยังไม่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ให้เติบโตสูงกว่า 3.5% ทั้งนี้ ข้อมูลส่งออกของไทยแข็งแกร่งกว่าคาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ในเดือนมิถุนายน ขยายตัวถึง 11.7% โดยมีปัจจัยหนุนจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว