ฝ่ายวิเคราะห์ธนาคารกรุงศรีอยุธยา คาดค่าเงินบาทแกว่งกรอบ 33.95-34.25 ต่อดอลลาร์ หลัง กนง.ตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% แนะจับตาเฟดแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีต่อสภาครองเกรสช่วงกลางสัปดาห์ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปี 2560
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เกตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.95-34.25 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 34.08 ต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลงมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้ตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามคาด เงินบาทกลับมาอ่อนค่าเนื่องจากมีแรงซื้อคืนเงินดอลลาร์ในตลาดโลก และนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์ แม้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับลดลงเล็กน้อย
ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 2.0 พันล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 3.9 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กรุงศรี มองว่าปัจจัยชี้นำหลักจะอยู่ที่การแถลงนโยบายการเงินรอบครึ่งปีของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต่อสภาคองเกรสช่วงกลางสัปดาห์ โดยข้อมูลตลาดแรงงานของสหรัฐฯ สร้างความเชื่อมั่นมากขึ้นว่า มีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก่อนสิ้นปี 2560 อย่างไรก็ดี แรงหนุนขาขึ้นของเงินดอลลาร์ยังขาดความต่อเนื่อง โดยอัตราค่าจ้างซึ่งเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยสะท้อนถึงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มขยับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และเฟดจะยังระมัดระวังในการปรับสมดุลนโยบายต่อไป ส่วนการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศจี-20 รอบล่าสุด ส่งผลกระทบจำกัดต่อตลาดการเงิน
สำหรับปัจจัยในประเทศ การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 17 ติดต่อกันของ กนง. สะท้อนมุมมองเชิงบวกของผู้ดำเนินนโยบายต่อภาคส่งออก และการบริโภค ขณะที่สัญญาณการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังขาดความชัดเจน และเงินเฟ้อยังหลุดกรอบเป้าหมายของ กนง. กลุ่มงานโกลบอลมาร์เกตส์คาดว่าอาจมีบางช่วงที่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จะปรับขึ้นแซงหน้าดอกเบี้ยนโยบายของไทยได้ชั่วคราว โดยเฟดมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 รอบในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่คาดว่า กนง.จะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยราวกลางปี 2561 เป็นอย่างเร็ว
ในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวสอดคล้องต่อสกุลเงินภูมิภาค แต่เตือนว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนได้ 2 ทิศทางในระยะต่อไป ทั้งนี้ ปัจจัยที่ควรจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ การปรับพอร์ตเพื่อลดสถานะการลงทุนในตราสารหนี้ของนักลงทุนทั่วโลก หลังธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับการยุติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต