ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่งเสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ เล็งเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ภายในปีนี้
นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ กรรมการผู้จัดการ บล. กสิกรไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) เปิดเผยว่า ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และนับหนึ่งแบบไฟลิ่ง ของ บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 276,375,000 หุ้น
สำหรับหุ้นที่จะเสนอขาย IPO ครั้งนี้ประกอบด้วย หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดย บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำนวนไม่เกิน 230,375,000 หุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (Unity I. Capital Limited) จำนวนไม่เกิน 46,000,000 หุ้น รวมคิดเป็นไม่เกินร้อยละ 30 ของหุ้นสามัญที่ออก และชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนครั้งนี้
ทั้งนี้ ภายหลังที่สำนักงาน ก.ล.ต. อนุมัติแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และมีผลใช้บังคับแล้ว กลุ่มบริษัทฯ จะกำหนดวันเสนอขายหุ้น IPO ให้แก่ประชาชน และคาดว่าจะนำ บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ได้ภายในปีนี้ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนทั้งในและต่างประเทศ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประกอบธุรกิจในกลุ่มบริษัทฯ และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน
ปัจจุบัน บมจ. เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ มีทุนจดทะเบียน 922,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ จำนวน 922,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนที่เรียกชำระแล้วทั้งสิ้น 691,625,000 บาท
เสริมสร้าง พาวเวอร์ฯ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในลักษณะโฮลดิ้ง คอมปานี ที่เข้าลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 2 กลุ่มธุรกิจ คือ 1. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และ 2. ธุรกิจลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ
ด้านนายวรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 1 โครงการนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2558 ได้แก่ โครงการ “เสริมสร้าง โซลาร์” ในอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ที่ดำเนินการผ่านบริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด หรือ SPN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้นร้อยละ 100 โดย SPN ได้ทำสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1 สัญญา ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญา 40 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 52 เมกะวัตต์ (MW) โดยเป็นสัญญาแบบ Non-Firm มีอายุสัญญา 5 ปี และต่ออายุได้คราวละ 5 ปี ซึ่งได้รับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ในอัตรา 6.5 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 10 ปีนับจากวันที่เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์
ขณะเดียวกัน ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ มีการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น จำนวน 3 โครงการ ผ่าน SEG (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100) ได้แก่ โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 1 โครงการ คือ โครงการฮิดะกะ ภายใต้การดำเนินงานของ SSH ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนร้อยละ 86.9 ในจังหวัดฮอกไกโด คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 1/61 โดยมี Hokkaido Electric Power Company Limited ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าภาคเอกชนในเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฮิดะกะ ในปริมาณซื้อขายตามสัญญารวม 17 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 21 MW โดยมีอายุสัญญา 20 ปี และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 40 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี
โครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการยามากะ ภายใต้การดำเนินงาน GSSE ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนประมาณร้อยละ 90.0 ในจังหวัดคุมาโมโต ดาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 2/63 โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าภาคเอกชนในเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการยามากะ ในปริมาณซื้อขายตามสัญญารวม 30 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 34.5 MW โดยมีอายุสัญญา 20 ปี และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี
และ (2) โครงการโซเอ็น ภายใต้การดำเนินงาน ZOUEN ด้วยสัดส่วนเงินลงทุนประมาณร้อยละ 100.0 ในจังหวัดคุมาโมโต คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในไตรมาส 4/61 โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าภาคเอกชนในเมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการยามากะ ในปริมาณซื้อขายตามสัญญารวม 6 MW กำลังการผลิตติดตั้ง 7.8 MW โดยมีอายุสัญญา 20 ปี และได้อัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่ 36 เยนต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง คงที่ตลอดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 20 ปี
นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าทำสัญญาที่สำคัญ จำนวน 2 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 47.5 MW ปริมาณพลังงานไฟฟ้าเสนอขายตามสัญญารวม 40 MW รวมทั้งกลุ่มบริษัทฯ ร่วมกับองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ได้ยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 โดยเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน โครงการดังกล่าวได้ผ่านการคัดเลือกโดยวิธีการจับสลากจำนวน 1 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้ง 5.0 MW
“เราให้ความสำคัญกับการขยายการลงทุน และพัฒนาบุคลากร เพื่อสร้างธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการลงทุนและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าครบ 200 MW ภายในปี 2563 เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานชั้นนำแห่งเอเชีย โดยจะเป็นผู้ผลิต และจัดหาพลังงานที่ยั่งยืน ควบคู่กับการส่งเสริมสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่สะอาดอย่างมั่นคงเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคม” นายวรุตม์ กล่าว
นางสาวธัณฐภรณ์ ไกรพิสิทธิ์กุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SSP กล่าวว่า บริษัทฯ มีจุดเด่นด้านความเชี่ยวชาญในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างมีเสถียรภาพ และสม่ำเสมอ รวมถึงให้ความสำคัญกับการเลือกสถานที่ตั้งโครงการที่จะต้องมีค่าความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับที่เหมาะสม มีสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศที่ดี รวมถึงไม่มีข้อจำกัดด้านการเชื่อมโยงระบบเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีทีมบริหารที่มีความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ