xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหินและระบบผูกขาดพลังงานของไทย / จริยา เสนพงศ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
จริยา  เสนพงศ์
ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
-------------------------------------------------------------------------------------------


 
การประกาศของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะตัดสินใจเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือถ่านหินกระบี่ ในวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 ที่จะถึงนี้ นอกจากสวนทางต่อคำมั่นสัญญาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการกู้วิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เพิ่มมากไปกว่า 1.5 องศาแล้ว ยังแสดงให้ประชาชนได้เห็นความไม่เป็นธรรมในการจัดการพลังงานของประเทศ สู่ช่องว่างทางอำนาจที่ห่างมากขึ้นของประชาชน และกลุ่มทุนพลังงานถ่านหิน
 
การไฟเขียวของนายกฯ ถือเป็นการยอมรับให้การผูกขาดด้านพลังงานยังอยู่ และผลักภาระให้ประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระต้นทุนความล้มเหลวของการจัดการพลังงานของประเทศ
 
การสั่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ สะท้อนให้เห็นระบบผูกขาดพลังงานของประเทศอย่างเหนียวแน่น และยังอยู่ในภาวะยุคมืดอีกหลายปีนับจากนี้
 
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยังคงเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ในการจัดหาพลังงานป้อนเข้าสู่ระบบสายส่ง ตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ กฟผ.เป็นผู้ผลิต จัดหา ส่งและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
 

 
หากพิจารณาอำนาจของ กฟผ.จะเห็นชัดเจนว่า กฟผ.มีบทบาททั้งในการวางแผน และการจัดหาพลังงาน อำนาจในการวางแผนพลังงานที่ กฟผ.เป็นนายหน้าผูกขาด ตั้งแต่การพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ซึ่งที่ผ่านมา ส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการคาดการณ์การใช้พลังงานล่วงหน้าสูงเกินความเป็นจริงมาตลอด เฉลี่ยปีละราว 1,000 เมกะวัตต์ และการผูกขาดในการวางแผนพลังงานยังคงต่ออายุ “พีดีพีแบ่งเค้ก” ที่ทำให้การจัดสรรโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ มิใช่ความต้องการที่แท้จริง เนื่องจากหากยิ่งสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มยิ่งได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่ม
 
ถึงแม้ว่าไฟฟ้าดังกล่าวจะเกินความต้องการ และเกินค่าสำรองมาตรฐานสากลที่ระดับร้อยละ 15 แต่ภาระต้นทุนดังกล่าวไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ กฟผ. เนื่องจากมันถูกผลักมายังบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนที่ได้จ่ายในบิลค่าไฟฟ้าทุกเดือน ซึ่ง ณ ปี 2559 ประชาชนได้จ่ายเงินกว่าแสนล้านบาทล่วงหน้าแล้ว อันมาจากกำลังสำรองไฟฟ้าของประเทศเกินค่ามาตรฐานสากลมาราว 3,300 เมกะวัตต์ (1)
 
การผูกขาดพลังงานของ กฟผ.ได้ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงระบบสายจำหน่ายของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยทั้ง กฟน.และ กฟภ.ถูกบังคับตามกฎหมายให้ซื้อไฟฟ้าจาก กฟผ.เป็นหลัก ดังนั้น สายส่งไฟฟ้าของประเทศไทยเป็นสายส่งไฟฟ้าที่ขาดความเป็นกลาง เนื่องจากเป็นสายส่งที่กีดกันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่มีไว้รองรับพลังงานเชื้อเพลิงถ่านหิน
 
ทำไมถึงไม่ปลดล็อกสายส่ง เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานอื่น?
 
คำถามสำคัญของประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าคือ ทำไม กฟน.และ กฟภ.จึงไม่ปลดล็อกระบบสายส่งให้สามารถรับซื้อไฟฟ้าได้จากผู้ผลิตพลังงานที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้พลังงานอื่นนอกจากถ่านหิน
 

 
ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนในระดับบ้านเรือน อาคารสำนักงาน โรงเรียน หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าที่ผลิตไฟฟ้าได้ในพื้นที่ จะไม่สามารถเข้าสู่ระบบสายส่งไฟฟ้าของ กฟน.และ กฟภ.ได้ เนื่องจากทั้ง 2 หน่วยงานต้องจัดสรรการจำหน่ายไฟฟ้าในพื้นที่เหล่านั้น โดยให้ความสำคัญต่อไฟฟ้าที่ได้มาจากการจัดหาของ กฟผ.เป็นหลัก
 
ดังนั้น ประชาชนในพื้นที่จึงไม่มีสิทธิเข้าถึงการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถึงแม้ว่าพื้นที่ของจังหวัดเหล่านั้นจะมีศักยภาพในการผลิตพลังงานหมุนเวียนก็ตาม ในต่างประเทศประชาชนมีสิทธิเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนจากระบบ Net Metering ที่ทำให้มิเตอร์ไฟฟ้าของประชาชนที่ผลิตไฟฟ้าสามารถหักลบค่าใช้จ่ายไฟฟ้าที่ใช้จากสายส่งส่วนกลางได้ ระบบดังกล่าวจะผลักดันให้เกิดการเติบโตของการแข่งขันลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และมีการเปรียบเทียบต้นทุนพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐมักอ้างว่า ต้นทุนโรงไฟฟ้าใหม่ถูกกว่า เพราะไม่เคยมีการเปรียบเทียบกันในด้านค่าขนส่งพลังงาน
 
ความจำเป็นในการประกาศเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จึงมีค่าเป็นศูนย์ เมื่อเทียบกับความจำเป็นอันยิ่งยวดของนายกรัฐมนตรี ในการเร่งเดินหน้าจัดการการผูกขาดพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย อันเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถข้ามพ้นกลุ่มทุนอุตสาหกรรมถ่านหิน
 
ถึงเวลาที่ประเทศจะต้องเปลี่ยนอำนาจการจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาอยู่ กฟน. และ กฟภ. แทนที่ กฟผ. โดยจะต้องแยกการจัดหากับอำนาจการผลิตพลังงานออกจากกัน ทั้งนี้ กฟผ.ยังคงสร้างโรงไฟฟ้า และดูแลระบบสายส่งกลาง แต่ กฟผ.ต้องเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตพลังงานรายอื่น หรือบริษัทลูกของ กฟผ. 
 
กฟผ.ไม่จำเป็นต้องแปรรูป เพียงแค่แยกอำนาจการจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาอยู่ที่ กฟน. และ กฟภ. 
 
ดังนั้น การพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศจะตั้งอยู่บนความต้องการที่แท้จริง และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ไม่สามารถทำได้บนการแบ่งปันผลประโยชน์ เนื่องจากทาง กฟน. และ กฟภ. ไม่จำเป็น และไม่อยากทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าเพิ่ม จึงทำให้ประเทศมีการผลิตและรับซื้อไฟฟ้าที่เหมาะสม
 
ความกล้าหาญของนายกฯ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า จึงไม่ใช่การประกาศเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แต่คือการยกเลิกการผูกขาดการจัดการพลังงานของประเทศ อันเป็นวาระแห่งชาติ เพราะจะเป็นการสร้างความเป็นธรรม และลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับอย่างน้อย 450,000 ล้านบาท
 
หากรัฐบาลยุติเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินตามแผนพีดีพี 2015 จำนวนกว่า 7,300 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่รวมทั้งสิ้น 13 โรงทั่วประเทศ  (1) อีกทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่มีอายุการใช้งาน 40-60 ปี คาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจะสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศนับร้อยปี (2) และก่อให้เกิดหายนะจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยเองเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจากผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน (3)
 

 
-----------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลอ้างอิง

(1) เอกสารการนำเสนอ “ประเทศไทยในสัญญาปารีส” ราว,  21 มกราคม 2560, ศุภกิจ นันทะวรการ มูลนิธินโยบายสุขภาวะ
 
(2) https://www.ipcc.ch/pdf/assessment-report/ar5/wg3/ipcc_wg3_ar5_full.pdf
 
(3) https://www.germanwatch.org/fr/download/13503.pdf 
 
กำลังโหลดความคิดเห็น