“ณรงค์ชัย” เผย ศก. ไทยยังได้แรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ แต่ห่วงกำลังซื้อลดจากปัญหาแรงงาน-ที่ดิน ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังไม่กลับมามากเท่าที่ควร
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ. เอ็มเอฟซี (MFC) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อนาคตประเทศไทยในพลวัตรเศรษฐกิจโลก” โดยมองว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทย (GDP) ยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น รวมไปถึงภาพรวมของกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี
อย่างไรก็ตาม คงเป็นห่วงกำลังซื้อของประชนรายเล็ก หรือรากหญ้า หลังผู้ประกอบการรายย่อยที่มีผลกระทบเกี่ยวกับการจัดระเบียบแรงงาน ที่ทำให้หลาย ๆ กิจการประสบปัญหา และการจัดระเบียบที่ดินที่ทำให้รากหญ้าไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกัน ราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังไม่กลับมามากเท่าที่ควร
“เราไม่ห่วงในภาพใหญ่ เพราะเอกชนรายใหญ่ก็มีการเตรียมตัวสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐก็ยังคงมีต่อเนื่อง การท่องเที่ยวเองก็ยังเติบโตได้ดีมาโดยตลอด แต่เราห่วงรายเล็กมากกว่าซึ่งต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงาน และเรื่องของที่ดินที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องจัดการอย่างมีระบบ และไม่ให้เกิดผลกระทบมากเกินไป เพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” นายณรงค์ชัย กล่าว
ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมมนา “เกาะติดเศรษฐกิจไทย(ครึ่งหลังปี 60)...สดใสหรือไร้แวว” โดยคาดว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 60 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากแรงส่งของการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ รวมถึงการเร่งตัวของคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ด้านการบริโภคคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการผลิตในภาคเกษตร ที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง การท่องเที่ยวขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และต่างประเทศ ที่ฟื้นตัว
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากการสนับสนุนการลงทุนตามนโยบาย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และความคืบหน้าของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)
อย่างไรก็ตาม ทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนในกระบวนการเจรจา และ ความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างสหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร รวมถึงการเลือกตั้งในประเทศสำคัญของสหภาพยุโรป และความผันผวนของตลาดเงิน และตลาดทุนโลกจากการเคลื่อนย้ายเงินทุน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องให้ความสำคัญ
“เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา สามารถประคองตัวได้ดีจากปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการส่งออกที่ฟื้นตัวดีขึ้น และภาคการบริโภคที่กลับมาขยายตัวตามผลผลิต และราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตร อย่างไรก็ตาม การลงทุนของภาคเอกชนยังมีทิศทางฟื้นตัวที่ไม่ชัดเจน ส่วนการท่องเที่ยวสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยว”