xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คลัง มองคำสั่งทรัมป์ ลดขาดดุลการค้าสหรัฐฯ พุ่งเป้าจีน เชื่อกระทบถึงไทยไม่มาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.คลัง มองคำสั่งทรัมป์ ลดขาดดุลการค้าสหรัฐฯ พุ่งเป้าจีน เชื่อกระทบถึงไทยไม่มาก ระบุ การค้าเสรีก็เป็นแบบนี้ มีเกินดุลบ้างก็มีขาดดุลบ้างอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าสุดท้ายทั้ง 16 ประเทศในรายชื่อของสหรัฐฯ จะมีการรือร่วมกันในลักษณะทวิภาคี มีการหารือกันเป็นคู่เพื่อให้ได้ข้อสรุป

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารฉบับใหม่สองฉบับ โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติการขาดดุลการค้าว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบหนักสุดจากกรณีนี้ คือ จีน ขณะที่ไทยน่าจะได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย หรือน้อยมาก เนื่องจากมีบางอุตสาหกรรมของจีน นำเข้าชิ้นส่วนจากไทยเพื่อผลิตสินค้า และส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น ยางพาราที่นำไปผลิตยางรถยนต์ ซึ่งผลกระทบจะเป็นอย่างไรคงต้องรอผลการเจรจากับสหรัฐฯ ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในระบบการค้าเสรีเป็นปกติที่บางประเทศจะเกินดุลฯ และบางประเทศจะขาดดุลฯ ซึ่งในส่วนของไทยเองเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไม่มาก แต่อีกมุมเราขาดดุลกับอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศหลักของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อยู่ที่ว่าโครงสร้างทางการค้าของแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร

“การค้าเสรีก็เป็นแบบนี้ มีเกินดุลบ้างก็มีขาดดุลบ้างอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าสุดท้ายทั้ง 16 ประเทศในรายชื่อของสหรัฐฯ จะมีการหรือร่วมกันในลักษณะทวิภาคี มีการหารือกันเป็นคู่เพื่อให้ได้ข้อสรุป” นายอภิศักดิ์ กล่าว

อนึ่ง คำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ฉบับแรก กำหนดให้กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ ยูเอสทีอาร์ ตรวจสอบ 16 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ซึ่งในกลุ่มนี้มีประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าอยู่สูงสุด 6 ประเทศ คือ จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, เม็กซิโก, ไอร์แลนด์ และ เวียดนาม ส่วนอีก 10 ประเทศ คือ อิตาลี, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ไทย, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และแคนาดา

ส่วนคำสั่งฉบับที่ 2 เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเพื่อการคุ้มครองพรมแดนและศุลกากร (ซีบีพี) ของสหรัฐฯ ประเมิน และดำเนินมาตรการลงโทษทางการเงินต่อสินค้าที่ส่งเข้ามาด้วยพฤติกรรมทางการค้าผิดปกติ และไม่เป็นธรรม หรือเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพื่อตอบโต้การกระทำที่เข้าข่ายการทุ่มตลาด

ด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภาคส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ คงต้องรอผลการเจรจาร่วมระหว่างไทย กับสหรัฐฯ ในวันนี้ว่าจะมีผลออกมาเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมา การเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ มีมาเป็นระยะ แต่เพิ่งมาหยุดลงหลังมี FTA ดังนั้น เป้าหมายในการเจรจาระหว่างไทย-สหรัฐฯ ครั้งนี้เพื่อหาข้อสรุป และสหรัฐฯ เองคงจะตั้งเป้าที่จะเจรจากับประเทศที่ได้ดุล หวังว่าการเจรจาจะเป็นการหารือเพื่อหาข้อสรุป ไม่ใช่หารือเพื่อหาเรื่อง และหวังว่าคณะทำงานที่มาเจรจา USTR จะไม่ทำตามเจตนารมย์ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มากเกินไป

“ส่วนผลการหารือยังเดาไม่ออก แต่หวังว่าจะออกมาในทิศทางที่ดีขึ้น” นายณรงค์ชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น