xs
xsm
sm
md
lg

รมว.คลังย้ำไทยเกินดุลสหรัฐฯ แค่เล็กน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“รมว.คลัง” เผยสหรัฐฯ เพ่งเล็งไทยเกินดุลการค้ามะกัน มีผลกระทบกับไทยเล็กน้อย อีกทั้ง การตั้งกำแพงภาษีกับทุกประเทศที่เอาเปรียบดุลการค้า จะทำให้ทุกประเทศแบกต้นทุนที่เท่ากัน ด้าน “ณรงค์ชัย อัครเศรณี” แนะต้องมีการเจรหาแนวทางว่าปรับปรุงการขาดดุลนี้ให้ดีขึ้นโดยผ่าน USTR ที่ยังเชื่อมั่นในระบบพหุภาคี และไม่ได้เชื่อผู้นำประเทศทุกเรื่อง ส่วนไทยต้องเร่งแก้ไขกฎระเบียบกาค้าที่ยังล้าหลัง ซึ่งสหรัฐฯ มักใช้อ้างเป็นเหตุ ขณะที่ผลกระทบกับไทยยังประเมินไม่ได้ เพราะเพิ่งเริ่มยกที่ 1 ในการเจรจาการค้ารอบใหม่

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแสดงความเห็นกรณีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ระบุไทยเป็น 16 ประเทศที่สหรัฐฯ ต้องจับตามอง เนื่องจากฐานะเกินกลดุลการคลังสหรัฐอเมริกาว่า เป็นเรื่องปกติทางการค้าโลกที่บางประเทศอาจเกินดุล หรือขาดดุลบางประเทศ แม้ที่ผ่านมา ประเทศไทยอาจจะได้ดุลการค้าจากสหรัฐฯ ก็ตาม แต่ก็ถือว่าไม่มากนัก อีกทั้ง ประเทศไทยเองก็ยังมีการขาดดุลการค้ากับประเทศผู้ส่งออกเทคโนโลยี และเครื่องจักรที่ค่อนข้างมาก ซึ่งการขาดดุล หรือเกินดุลการค้านั้น จะขึ้นอยู่กับโครงสร้างการค้า และผลผลิตของแต่ละประเทศตามระบบการค้าเสรีเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐฯ มีนโยบายดังกล่าวก็ต้องมีการหารือกัน แต่ประเทศที่จะโดนหนักสุด คือ ประเทศจีน เนื่องจากมีมูลค่าการเกินดุลกับสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ส่วนประเทศไทยนั้น มีการเกินดุลเพียงเล็กน้อย จึงไม่มีผลกระทบมากนัก แต่หากพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรมแล้ว นายอภิศักดิ์ เห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผกระทบมากที่สุด คือ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นของสหรัฐฯ เอง ส่วนของประเทศไทยจะเป็นกลุ่มสินค้าเสื้อผ้า ซึ่งมีการส่งออกค่อนข้างมาก

ส่วนความพยายามในการกีดกันการค้ากับประเทศจีนของสหรัฐฯ นั้น จะส่งผลกระทบโดยอ้อมกับประเทศไทยหรือไม่นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า สินค้าจีนที่ส่งไปสหรัฐฯ อาจมีการใช้วัตถุดิบจากประเทศไทยบ้าง แต่ถือว่าไม่มากนัก เช่น ยางพารา ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการนำเข้าเพื่อผลิต และใช้ภายในประเทศเป็นหลัก ส่วนวัตถุดิบจากไทยที่จีนนำเข้าเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบสินค้าสำเร็จรูป เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากจีนสามารถผลิตเองได้เป็นแล้ว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การกีดกันทางการค้าด้วยการตั้งกำแพงภาษีให้สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตของทุกประเทศอยู่ในระดับเท่ากัน ซึ่งจะส่งผลกระทบไม่มากนักในแง่การแข่งขัน แต่หากพิจารณาถึงอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตที่มีความก้าวหน้าในปัจจุบัน จะให้ประเทศกลับมาทำสิ่งที่ล้าหลังก็คงไม่ใช่ เนื่องจากจะทำให้คนในประเทศสหรัฐฯ ต้องซื้อสินค้าในราคาที่แพงขึ้น อีกทั้ง ยังเป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย

ด้าน นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การพิจารณาดุลการค้า สหรัฐฯ ควรพิจารณาโดยภาพรวมแทนที่จะพิจารณาเป็นรายประเทศ อีกทั้ง เป้าหมายหลักในการดำเนินการของนายทรัมป์นั้น คือ ประเทศใดที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ จะต้องถูกเพิ่งเล็งเป็นพิเศษ จึงเรื่องดังกล่าวก็ต้องดูว่า สหรัฐฯ กำลังหาเรื่องประเทศไทยหรือเปล่า อีกทั้ง ประเทศไทยก็มีมูลค่าเกินดุลเพียงแค่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยการเกินดุลดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาปีแล้ว

แต่อย่างไรก็ตาม นายณรงค์ชัย ยังเห็นว่า เรื่องดังกล่าวต้องมีการเจรจาเพื่อหารือถึงแนวทางว่า ทำอย่างไรให้ปรับปรุงการขาดดุลนี้ให้ดีขึ้นได้ และถ้ามีเจตนาที่จะหารือกันแล้ว ก็ยังมีระบบที่จะช่วยทั้ง 2 ประเทศได้ โดยผ่านการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์ของไทย และคณะผู้แทนการค้าของสหรัฐ (USTR)

“เชื่อว่า USTR จะเป็นกลุ่มที่ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องพหุภาคี และเชื่อว่าคงจะไม่เชื่อผู้นำของประเทศของเขาจนเกินไป แต่สิ่งที่ไทยต้องดำเนินการ คือ การแก้ไขกฎระเบียบ และกติกาทางการค้าที่มีคงยังมีความล้าหลัง เช่น กฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายแรงงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ อ้างเป็นเหตุได้ แต่ผลกระทบจากนโยบายทรัมป์กับไทย จะมีมากน้อยเพียงใด ยังประเมินไม่ได้ เพราะเพิ่งเริ่มยกที่ 1 ของการเจรจาการค้ารอบใหม่” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น