แบงก์ชาติ ชี้ค่าบาทแข็งตามเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อน เหตุหลายฝ่ายกังวลการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของทรัมป์ ย้ำขอความร่วมมือแบงก์ลดค่าธรรมเนียมป้องกันความเสี่ยงค่าบาทช่วยแบ่งเบาภาระเอสเอ็มอี รับเอ็นพีแอลแบงก์ยังพุ่งสูง เป็นแค่เฉพาะรายธุรกิจ ระบุลงนามอนุมัติปรับเกณฑ์ลดวงเงินบัตรเครดิตแล้ว คาดแถลงได้สัปดาห์หน้า
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ เป็นการแข็งค่าที่สอดคล้องกับภูมิภาค เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาการเมืองของสหรัฐฯ ที่จะมีการสอบสวนประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจะส่งผลให้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ซึ่งยอมรับว่า สภาวะข้างหน้าค่าเงินยังคงผันผวนต่อไป ขอให้ผู้ส่งออกควรที่จะมีการป้องกันความเสี่ยง
ทั้งนี้ ธปท. ได้ทำความเข้าใจกับภาคเอกชน และผู้ส่งออกและนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้แนะนำให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท โดยให้ทำการป้องกันความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องทุกครั้ง ไม่ใช่เลือกทำเฉพาะเวลาที่เกิดความผันผวนมากเกินไป
“ธปท. ได้ขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ให้ดำเนินการให้เรื่องนี้แล้ว โดยในขณะนี้ธนาคารพาณิชย์กำลังปรับเปลี่ยนเครื่องมือ และค่าธรรมเนียมในการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถเข้าถึงการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาทได้ และยังช่วยลดภาระให้กับภาคธุรกิจเอสเอ็มอีได้”
ส่วนผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสที่ 2 บางธนาคารพาณิชย์อาจจะได้รับผลกระทบจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่บางแห่งที่กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แต่กรณีนี้ถือเป็นเหตุการณ์เฉพาะสำหรับบางรายเท่านั้น ไม่ได้กระทบภาพรวมของระบบ โดยธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญในอัตราที่สูงมาก และยังมีกำไรสะสมไว้อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ธปท. ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยตามปกติแล้ว เอ็นพีแอลจะเริ่มลดลงหลังจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแล้วในระยะหนึ่ง โดยเป็นผลจากภาคธุรกิจ และประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับกรณีการปรับเกณฑ์การให้วงเงินผู้สมัครบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน โดยลดวงเงินการให้สินเชื่อเหลือ 1.5 เท่าจาก 5 เท่านั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ได้ลงนามในประกาศการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว อยู่ระหว่างการรอลงราชกิจจานุเบกษา โดยจะไม่มีการปรับเกณฑ์ย้อนหลังกระทบต่อคนที่ทำบัตรเครดิต หรือสินเชื่อบุคคลไปก่อนหน้านี้ จะเป็นเกณฑ์ของรายใหม่เท่านั้น โดยคาดว่าจะมีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้ประชาชนทราบในสัปดาห์หน้า