ธนาคารกรุงไทยงวดครึ่งปีแรก ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรก่อนสำรอง 36,620 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีกำไรสุทธิ 12,528 ล้านบาท โดยธุรกิจหลักมีแนวโน้มดีขึ้น ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อใหม่ มุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม ดูแลและการแก้ไขสินเชื่อด้อยคุณภาพ
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนการกันสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ จำนวน 36,620 ล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันในปีก่อน โดยลดลงเพียง 359 ล้านบาท (ร้อยละ 0.97) การบริหารจัดการในธุรกิจหลักมีแนวโน้มดีขึ้น โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 936 ล้านบาท (ร้อยละ 8.88) จากธุรกิจบัตรและธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและต้นทุนทางการเงินได้ดีขึ้น
ธนาคารมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 204 ล้านบาท (ร้อยละ 0.83) จากนโยบายการควบคุมค่าใช้จ่าย อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (Cost-to-Income Ratio) เท่ากับร้อยละ 39.85 ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 39.81 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงเล็กน้อยเพียง 94 ล้านบาท (ร้อยละ 0.22) จากการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำในช่วงครึ่งปีแรก ด้วยการเน้นสินเชื่อที่มีคุณภาพ ประกอบกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยชั้นดีลงร้อยละ 0.50 เพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม จากนโยบายการบริหารต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราผลตอบแทนสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ (NIM) เท่ากับร้อยละ 3.40 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.16 จากช่วงครึ่งแรกของปี 2559 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 3.24
นายผยง ว่า กำไรสุทธิของธนาคารและบริษัทย่อย สำหรับงวด 6 เดือนเท่ากับ 12,528 ล้านบาท ลดลง 4,317 ล้านบาท (ร้อยละ 25.63) กำไรสุทธิส่วนของธนาคารจำนวน 11,760 ล้านบาท ลดลง 4,471 ล้านบาท (ร้อยละ 27.55) สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญฯ ที่เพิ่มขึ้น จำนวน 4,974 ล้านบาท (ร้อยละ 30.40) จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามนโยบายการบริหารความเสี่ยงและหลักเกณฑ์ความระมัดระวังของธนาคาร โดยได้กันสำรองหนี้สูญเต็มจำนวน สำหรับลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจหลักในอุตสาหกรรมเกษตรและเหมืองแร่ ซึ่งมีแนวโน้มการดำเนินงานที่อ่อนแอลง ทำให้สามารถคงอัตราส่วนเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ของธนาคารและบริษัทย่อยร้อยละ 112.50
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 99,078 ล้านบาท และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio-Gross) ร้อยละ 4.33 ธนาคารได้ปรับกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพสินเชื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการติดตามดูแลและการแก้ไขมากยิ่งขึ้น ตลอดจนรักษาระดับของอัตราส่วนเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) ให้มีความเหมาะสม คงอัตราเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 110 ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ
ธนาคารและบริษัทย่อยมีเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ เท่ากับ 1,918,010 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,921 ล้านบาท (ร้อยละ 0.73) จากสิ้นปี 2559 ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากลูกค้าภาครัฐ ด้านเงินรับฝาก ลดลง 9,982 ล้านบาท (ร้อยละ 0.51) ธนาคารยังคงมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยระดับเงินกองทุนที่เพียงพอ และการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพในการรองรับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศระยะยาว เท่ากับ AA+(Tha) โดย Fitch Ratings และอันดับความน่าเชื่อต่างประเทศ เท่ากับ Baa1 (Moody’s), BBB (Standard and Poor’s) และ BBB (Fitch Ratings)