xs
xsm
sm
md
lg

ธปท. แจงมาตรการคุมสินเชื่อบัตรเครดิตมีผลกระทบน้อยเฉพาะรายใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท. แจงมาตรการคุมสินเชื่อบัตรเครดิตมีผลกระทบน้อยเฉพาะรายใหม่ จับตาหนี้เสียเอสเอ็มอียังเพิ่ม ลั่นเศรษฐกิจไทยไม่เกิดภาวะเงินฝืด

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมปรับเปลี่ยนเกณฑ์เพดานการปล่อยเงินกู้สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยระบุว่าคงมีผลกระทบไม่มาก เพราะมาตรการดังกล่าวจะควบคุมเฉพาะผู้ที่ขอสินเชื่อใหม่เท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อผู้ที่มีบัตรเครดิตรายเดิม ซึ่ง ธปท. มองว่า การกระตุ้นการบริโภคด้วยการก่อหนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น เมื่อครัวเรือนมีหนี้สินอำนาจการซื้อก็จะน้อยลง เพราะเมื่อมีรายรับก็ต้องนำไปชำระหนี้ เนื่องจากเป็นการนำเงินอนาคตมาใช้ ดังนั้น ธปท. อยากให้มองภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวเป็นหลัก

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า ยังต้องติดตามความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอล โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ยังปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/2560 เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีอยู่ที่ร้อยละ 4.35 ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่า เอ็นพีแอลของเอสเอ็มอีจะปรับลดลงเมื่อไหร่ เนื่องจากเอสเอ็มอีมีปัญหาเรื่องความสามารถการชำระหนี้ และปัญหาความสามารถการแข่งขัน บางรายปรับตัวไม่ทันท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้นก็ต้องปิดกิจการไป อย่างไรก็ตาม ธปท. ยังมั่นใจฐานะของธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากสินเชื่อเอสเอ็มอีคิดเป็นแค่ 1 ใน 3 ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ประกอบกับ เงินกองทุนของแบงก์ยังอยู่ในระดับสูงเพียงพอรองรับความผันผวน และความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

“กนง. ให้จับตาระดับหนี้เอ็นพีแอลที่จะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจระดับหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะเอ็นพีแอลที่อยู่นอกระบบสถาบันการเงิน” นายจาตุรงค์ กล่าว

นายจาตุรงค์ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยไม่เกิดภาวะเงินฝืด เศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง การบริโภคยังขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะทยอยสูงขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้น โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ในช่วงปลายไตรมาส 4 ปีนี้ หรือต้นปี 2561
กำลังโหลดความคิดเห็น