ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดมาตรการควบคุมบัตรเครดิตของ ธปท. ลดความร้อนแรงการก่อหนี้ของกลุ่มเจนวาย
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมออกประกาศจำกัดเพดานวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันทุกประเภท โดยระบุว่าคงต้องรอรายละเอียดที่ชัดเจนจาก ธปท. แต่เชื่อว่า การปรับเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะช่วยให้การก่อหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน เช่น บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ไม่ร้อนแรงเกินไป โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ เจนวาย ที่ ธปท. ห่วงว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่มีการใช้จ่ายเกินตัว อาจจะกลายเป็นหนี้เสียติดเครดิตบูโรตั้งแต่อายุยังน้อย
“ธปท. คงเห็นว่า สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค ไม่ใช่สินเชื่อเพื่อธุรกิจ จึงไม่เป็นปัญหาต่อภาคธุรกิจ ดังนั้น ผู้ปล่อยสินเชื่อควรคำนึงถึงปัญหาการก่อหนี้ของผู้บริโภคเป็นหลัก ขณะที่ผู้บริโภคก็ควรระมัดระวังการก่อหนี้มากขึ้น เพราะไม่ได้ห้ามไม่ให้ก่อหนี้เลย” นายเชาว์ กล่าวว่า
นายเชาว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สถาบันการเงินมีหลักเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อบุคคล และบัตรเครดิตแตกต่างกัน ที่ส่วนใหญ่มีความเข้มงวดอยู่แล้ว เพราะไม่สนับสนุนการขอสินเชื่อฟุ่มเฟื่อย กรอบการอนุมัติสินเชื่อเป็นไปอย่างระมัดระวัง ดังนั้น เกณฑ์ที่ ธปท. จะประกาศออกมา จึงไม่น่ามีผลกระทบกับสถาบันการเงินมากนัก
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ เอ็นพีแอลนั้น คาดว่า เอ็นพีแอลจะสูงสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ และจะเริ่มลดลงในไตรมาส 4 เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังดีขึ้น และปลายปีนี้จะเห็นแบงก์ต่าง ๆ ขายหนี้เอ็นพีแอลออกมามากขึ้น
รายงานข่าวระบุว่า ธปท. เตรียมออกประกาศถึงธนาคารพาณิชย์ และบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยจะกำหนดเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันทุกประเภท อาทิ บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้สมัครบัตรเครดิต, สินเชื่อบุคคล, บัตรกดเงินสด, สินเชื่อผ่อนชำระ 0% ต่าง ๆ ดังนี้
1. ธุรกิจบัตรเครดิตกำหนดให้มีผู้รายได้ต่อเดือน 15,000-30,000 บาท ได้รับวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ แต่ถ้ามีรายได้เดือนละ 30,000-50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป 5 เท่าของรายได้ และไม่ได้ควบคุมจำนวนสถาบันการเงินออกบัตรเครดิต
2. สำหรับสินเชื่อบุคคลกำหนดเงื่อนไขให้มีผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และสถาบันการเงินปล่อยกู้ได้สูงสุด 3 แห่ง หรือคิดเป็น 4.5 เท่าของรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้ต่อเดือนที่ 30,000 บาทขึ้นไปยังสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ 5 เท่าของรายได้