KBANK ไม่กังวล ธปท. ปรับเกณฑ์สินเชื่อบัตรเคดิต-ส่วนบุคคล มองช่วยลดเสี่ยงหนี้เสีย เชื่อจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพียงเล็กน้อย เพราะสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับทั้งระบบ
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารคาดว่า ผลกระทบของการปรับเกณฑ์ใหม่ในการอนุมัติวงเงินบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่เพิ่มความเข้มงวดขึ้นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมประกาศใช้นั้น จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพียงเล็กน้อย เพราะสัดส่วนลูกค้าในกลุ่มบัตรเครดิต และสินเชื่อบุคคล คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับทั้งระบบ
โดยเฉพาะของธนาคารกสิกรไทยมีพอร์ตของกลุ่มลูกค้าบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล อยู่ที่ 2 หมื่นล้านบาท จากพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่กว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเกณฑ์ใหม่ออกมาธนาคารจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ไม่มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารไม่ได้มีความกังวล
อีกทั้ง ธนาคารมองว่า เกณฑ์ใหม่ที่จะออกมาจะช่วยให้ประชาชนมีวินัยในการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้ไม่เผชิญกับปัญหาการสร้างหนี้ที่เพิ่มขึ้น และเป็นการช่วยให้ธนาคารลดความเสี่ยงที่จะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ส่งผลให้คุณภาพหนี้ของธนาคารดีขึ้น โดยประเด็นดังกล่าวธนาคารไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับเกณฑ์ใหม่ เพราะการอนุมัติวงเงินบัตรเครดิตของฉนาคารยังคงเป็นไปตามเดิมที่ธนาคารมองว่า มีความเหมาะสมกับคุณสมบัติของลูกค้าแต่ละราย
ขณะเดียวกัน ในเรื่องของการที่อาจจะมีลูกค้าบางรายไปไช้บริการเงินกู้นอกระบบ หลังจากเกณฑ์ใหม่ออกมานั้น มองว่าเป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นได้หากบุคคลนั้น ๆ มีความจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในปัจจุบัน การให้วงเงินกับลูกค้าบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่สูง ลูกค้าบางรายก็ไม่ได้ใช้วงเงินตามที่ธนาคารให้ไป ซึ่งในบางรายวงเงินที่ธนาคารให้ไปอาจจะเกินความจำเป็นของลูกค้า
โดยทางสมาคมธนาคารไทยก็ยังมีความประสงค์ให้ประชาชนไม่ใช้จ่ายเงินฟุ่มเฟือย และไม่ก่อหนี้สินมากเกินไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หนี้ครัวเรือนในระบบเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งสมาคมธนาคารไทยยังคงต้องการไห้ประชาชนนำเงินที่ได้มาจากการทำงานแบ่งสัดส่วนเป็น 40% เพื่อออม และส่วนที่เหลืออีก 60% เพื่อการใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
“ธนาคารไม่ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เพราะลูกค้าก็ยังเหมือนเดิม มาตรฐานการอนุมัติวงเงินของธนาคารยังเหมือนเดิม ตอนนี้ลูกค้าบางรายให้เยอะไปก็ใช้ไม่ครบตามที่ให้ เกณฑ์ของแบงก์ชาติที่จะปรับลดเพดาบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่จะออกมาก็เป็นการสร้างวินัย และทำให้คนตระหนักถึงการใช้เงิน ส่วนผลกระทบต่อภาพรวมแบงก์ และธนาคารกสิกร เชื่อว่า น่าจะไม่มีผลกระทบอะไรมาก” นายปรีดี กล่าว
ส่วนแนวโน้มสินเชื่อรวมของธนาคารในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเห็นการเติบโตที่สูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรก จากปัจจัยหนุนด้านการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกมีการใช้วงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (working capital loan) มากขึ้น เพื่อนำเงินมาผลิตสินค้ารองรับออเดอร์ของลูกค้า และสินเชื่อโปรเจกต์ไฟแนนซ์ ที่ได้รับปัจจัยหนุนจากการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ที่จะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลัง มูลค่ารวมกว่าแสนล้านบาท
ปัจจัยดังข้างต้นถือว่าเป็นสัญญาณบวกว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และผลักดันให้สินเชื่อรวมของธนาคารเติบโตได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หลังจากสินเชื่อรวมของธนาคารใน 5 เดือนที่ผ่านมา เติบโต 2.3% ซึ่งธนาคารยังมั่นใจว่าสินเชื่อรวมในปีนี้จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โต 4-6% ส่วนสินเชื่อรวมของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ก็จะมีการเติบโตในทิศทางที่ดี เช่นเดียวกันในครึ่งปีหลังจากการเบิกจ่ายของภลครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีขึ้น