บล.บัวหลวง ชี้หุ้นไทยในครึ่งหลังปี 2560 กรอบดัชนี SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,627-1,520 จุด บนพื้นฐาน P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 15.8 เท่า เหตุยังไม่มีปัจจัยอะไรเข้ามากระทบทั้งดี และร้ายอย่างชัดเจน จับตาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจุดดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าไทย
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บล. บัวหลวง กล่าวถึงแนวโน้มการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในครึ่งหลังปี 2560 ว่า ทิศทางดัชนีการลงทุนของไทยยังคงไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาสนับสนุน โดยประเมินว่า กรอบดัชนี SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,627-1,520 จุด บนพื้นฐาน P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 15.8 เท่า
ทั้งนี้ คาดกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปีนี้ (Eps growth) จะเฉลี่ยอยู่ที่ 103 บาทต่อหุ้น หรือเติบโตประมาณ 5-6% จากการวิเคราะห์ GDP เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.5% และการส่งออกน่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 5%
ขณะที่ในส่วนของปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 43,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากภาพรวมความเชื่อมั่นในการลงทุนในไทย ยังไม่มีความชัดเจน
“เรายังไม่ได้เปลี่ยนแปลงคาดการณ์ตัวเลขต่าง ๆ เพราะยังไม่เห็นสัญญาณที่จะส่งผลบวกหรือลบอย่างมีนัยในขณะนี้ ซึ่งมองว่าดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวแกว่งตัวต่อไปจนถึงสิ้นปี”
ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยในไตรมาส 2/2560 ที่ทยอยประกาศออกมา จะเห็นการเติบโตลดลงในหุ้นกลุ่ม ICT เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC โดยตลาดคาดการณ์ว่า กำไรจะลดลงประมาณ 10% แต่ บล. บัวหลวง มองว่าอาจไม่ถึง เนื่องจากเชื่อว่าไตรมาส 2/2560 จะเติบโตดีต่อเนื่องจากการทำโปรโมชัน ขณะที่ในส่วนของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC นั้นก็ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มเห็นการกลับเข้ามาของจำนวนผู้ใช้จากการเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรร่วมกับ TOT รวมถึงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน ที่คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยที่ 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการปรับเพดานความเสี่ยงในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ หรือ NPLในระดับที่ดีขึ้น
“จากที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการเดินทางไปโรดโชว์แก่ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ในต่างประเทศ พบว่า นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุนในตลาดหุ้นไทยลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต เนื่องจากขีดจำกัดของเพดานดัชนีหุ้นไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ยาก อีกทั้งนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ยังคงรอดูในเรื่องของการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) และการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งหาก 2 ปัจจัยนี้มีความชัดเจนมากกว่านี้ ก็คาดว่าจะเห็นเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติเข้ามามากขึ้น”
ขณะที่ในเรื่องของการส่งออกของไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น เห็นได้จากช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวได้ประมาณ 13-16% และทั้งปี บล. บัวหลวง คาดการส่งออกจะเติบโตได้ไม่น้อยกว่า 5% ขณะที่ในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะปรับตัวลดลงไปกว่า 8% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ด้านการลงทุนภาคเอกชนปีนี้มองว่ายังคงชะลอตัว จากการใช้กำลังการผลิตที่ยังต่ำอยู่ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการผลักดันการลงทุน เช่น การเซ็นสัญญาการลงทุนโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งกว่าจะเห็นความชัดเจนน่าจะเป็นปีหน้า แต่เชื่อว่า การลงทุนภาคเอกชนน่าจะปรับตัวดีขึ้นได้ตั้งแต่ครึ่งปีหลังเป็นต้นไป โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์
นอกจากนี้ ในส่วนของความกังวลว่าจะมีการย้ายฐานเม็ดเงินไปยังต่างประเทศนั้น มองว่า เงินลงทุนจะไม่ไหลออก เพราะปัจจุบัน สัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ระดับ 30% ถือว่าต่ำมากอยู่แล้ว โดยปกติในปีก่อนหน้าจะอยู่ที่ระดับ 38-39%
“สัดส่วนการซื้อขายหุ้นของพอร์ตโบรกเกอร์ที่ผ่านมาเติบโตขึ้นมาก สาเหตุสำคัญมาจากการทำ Block trade เพราะโบรกเกอร์ต้องทำ Hedging ให้ลูกค้า เพื่อตอบสนองการลงทุนผ่าน Block trade โดยสัดส่วนของพอร์ตโบรกเกอร์กว่า 50-60% มาจากกิจกรรมดังกล่าว ด้านสาเหตุที่นักลงทุนหันมาซื้อขายผ่าน Block trade มากขึ้น เพราะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเก็งกำไรสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET50 โดยใช้เงินน้อยกว่าการซื้อหุ้นในกระดาน ค่าคอมฯ ต่ำกว่าถึง 40% และที่สำคัญมีโบรกเกอร์เป็นมาร์เกตเมกเกอร์ ซึ่งไม่ต้องกังวลเรื่องสภาพคล่องในการจะซื้อจะขาย นั่นเป็นจุดเด่นสำคัญกว่าการซื้อสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโดยตรงในกระดานที่สภาพคล่องค่อนข้างต่ำ”