xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” เดินหน้ายกเครื่องกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เดินหน้ายกเครื่องกฎหมายบริหารหนี้สาธารณะ แก้ไขคำจำกัดความ ตัดหนี้ ธปท. 4 ล้านล้านบาทออก คาดบังคับใช้ได้ในปีนี้ สรรพสามิตฟุ้งอานิสงส์เศรษฐกิจฟื้น รีดภาษีเกิน 1.5 หมื่นล้านบาท

นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า การแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริหารหนี้สาธารณะ ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคาดว่าจะออกมาบังคับใช้ได้ในปีนี้ ซึ่งจะทำให้การบริหารหนี้สาธารณะของประเทศมีความคล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับสาระสำคัญของการแก้กฎหมายครั้งนี้มี 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 มีการแก้คำจำกัดความของหนี้สาธารณะใหม่ให้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงหนี้ที่กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารจัดการได้เท่านั้นที่นับเป็นหนี้สาธารณะ ส่วนหนี้ที่กระทรวงการคลังเข้าไปบริหารไม่ได้ไม่ถือว่าเป็นหนี้สาธารณะ

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องแก้ไขคำจำกัดความ เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก้กฎหมายว่า ธปท. เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่ใช่หน่วยงานราชการ และไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ ซึ่งการเป็นหน่วยงานของรัฐทำให้ต้องนับหนี้ของ ธปท. ที่มีอยู่ 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สาธารณะด้วย ซึ่งหนี้สาธารณะปัจจุบันมีอยู่ 6 ล้านล้านบาท หากรวมของ ธปท. แล้ว จะทำให้หนี้สาธารณะกลายเป็น 10 ล้านล้านบาททันที

“กระทรวงการคลังไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับหนี้ของ ธปท. เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการเงินที่ ธปท. ต้องบริหาร และรับผิดชอบ ดังนั้น จึงมีการแก้ไขคำจำกัดความของหนี้สาธารณะใหม่ ไม่นับรวมหนี้ของ ธปท. เป็นหนี้สาธารณะ เพราะถือว่ากระทรวงการคลังไม่มีอำนาจในการเข้าไปบริหารจัดการ” นายสุวิชญ กล่าว

สำหรับการแก้ไขกฎหมายส่วนที่ 2 มีการแก้ให้กองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะ และพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ในประเทศ (กปพ.) ลงทุนในพันธบัตรของ ธปท. ได้ จากเดิมที่ให้ลงทุนได้เฉพาะตราสารหนี้รัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชนที่มีเครดิต AAA ทำให้กองทุนลงทุนได้อย่างมีข้อจำกัด

“การบริหารหนี้สาธารณะของประเทศในปัจจุบันอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 60 ของจีดีพี ปัจจุบัน หนี้สาธารณะอยู่ที่ 6 ล้านล้านบาท ประมาณ 42% ของจีดีพี เท่านั้น” นายสุวิชญ กล่าว

ด้านนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า การเก็บภาษีในเดือน มิ.ย. 2560 เกินเป้าหมาย 3.2 พันล้านบาท เนื่องจากการเก็บภาษีน้ำมัน รถยนต์ และสุรา เก็บได้เกินเป้าหมาย ส่งผลให้การเก็บภาษีในช่วง 9 เดือนของปีงบประมาณ 2560 เกินเป้าหมาย 5.2 พันล้านบาท จากการเก็บภาษีน้ำมันเกินเป้าหมาย 1.6 หมื่นล้านบาท และการเก็บภาษีสุราเกินเป้าหมายประมาณ 3 พันล้านบาท

“ภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเริ่มเข้าช่วงไฮซีซันของการท่องเที่ยวไทย ทำให้มีการบริโภคสินค้า และทำให้การเก็บภาษีสรรพสามิตมากขึ้น คาดว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีงบประมาณ 2560 จะยังเก็บภาษีได้เกินเป้าหมายเดือนละไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท ทำให้ทั้งปีงบประมาณ 2560 จะเก็บภาษีได้เกินเป้าหมาย 1.2-1.5 หมื่นล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5.65 แสนล้านบาท” นายสมชาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น