“ไอเฟค” ปลื้มบริษัทลูก “ไอวินด์” คว้ารางวัล “ดีเด่น” ด้านพลังงานทดแทนประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า ในงาน “ไทยแลนด์ เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด 2017” ขณะที่ “วิชัย” เผยปลายปีเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลไฮบริดหากรัฐเปิดรับซื้อ
นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจ และมีความภาคภูมิใจกับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ ไอวินด์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไอเฟค ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทดีเด่น ด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า หรือ On Grid
ทั้งนี้ ไอวินด์ ได้นำส่งผลงานโครงการ สวนกังหันลมเลียบชายฝั่ง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมประกวดในงาน Thailand Energy Awards 2017 ซึ่งงานดังกล่าวเป็นรางวัลสุดยอดด้านพลังงานไทยระดับสากล โดยเป็นรางวัลดีเด่นการลดใช้พลังงาน และลดโลกร้อน
“ไอวินด์ เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตั้งอยู่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี ดร.สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร”
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ Thailand Energy Awards 2017 ด้านพลังงานทดแทน ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจการไอวินด์ โดยมี ดร. สุเมธ ให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมซึ่งไอวินด์ ถือเป็นโครงการที่ทางไอเฟค ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นโครงการกังหันต้นแบบในลักษณะของ Wind Park (สวนกังหันลม) ซึ่งไม่ใช่ Wind Farm (ฟาร์มกังหันลม) อย่างที่หลายคนคุ้นเคย
สำหรับโครงการไอวินด์นั้น ได้สร้างแล้วเสร็จ และเริ่มกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ ดร. สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ ไอวินด์ กล่าวว่า สาเหตุที่ไอวินด์ ส่งโครงการสวนกังหันลมเลียบชายฝั่ง ประกวดในงานดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มบุคคล และกลุ่มคณะต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาเยี่ยมชมโครงการสวนกังหันลมของไอวินด์ และเห็นภูมิทัศน์ของโครงการต่างชื่นชอบ และสนับสนุนให้ไอวินด์ เข้าร่วมประกวด
“ต้องยอมรับว่า ผม ทีมงาน และผู้บริหารไอเฟค ทุ่มเทให้กับไอวินด์ ในการพัฒนาโครงการสวนกังหันลมขึ้นมา โดยคำนึงถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ธรรมชาติเดิมให้คงอยู่ อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับโครงการ และวิถีของชุมชน”
นอกจากนี้ นายวิชัย ยังกล่าวเสริมด้วยว่า ไอวินด์มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการกังหันลม เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เพื่อให้การพัฒนาโครงการที่มีประโยชน์ในเชิงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญ คือ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
“เรามุ่งเน้นให้มีการบูรณาการโครงการกังหันลม โดยมีเป้าหมายต้องสอดคล้องกับวิถีชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางไฟฟ้าแก่ประเทศ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้า โดยกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างประหยัด เพื่อให้พนักงานไอวินด์ ยึดถือ และปฏิบัติอย่างเคร่งครัดให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร”
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไอวินด์ได้ยึดถือ และปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อกำหนดต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างประหยัด รวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ “โครงการสวนกังหันลมของไอวินด์ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้ทรัพยากร และพลังงานอย่างรู้คุณค่า และเลือกใช้เทคโนโลยี่ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณที่ต่ำ”
ทั้งนี้ โครงการกังหันลมเลียบชายฝั่ง ปากพนัง เป็นโครงการพลังงานลมขนาดเล็ก แต่เป็น VSPP ที่มีขนาดใหญ่ หรือสูงสุด 10 เมกะวัตต์
“ไอวินด์ ทำการฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ และสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยไปสู่ทีมงาน โดยหัวใจสำคัญของโครงการสวนกังหันลมเลียบชายฝั่ง มุ่งมั่นให้เกิดผลถึงชุมชนรอบ ๆ โครงการ โดยคำนึงถึงวิถีของชุมชน ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ”
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไอวินด์ ต้องเตรียมการเพื่อนำเสนอผลงาน โครงการสวนกังหันลมเลียบชายฝั่ง อำเภอปากพนัง เนื่องจากได้รับการเสนอชื่อให้เป็นตัวแทนของประเทศไทย เข้าร่วมประกวดผลงานโครงการดังกล่าวในงาน “อาเซียน เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ดส์ 2017” (ASEAN Energy Awards 2017) อีกด้วย
นอกจากนี้ นายวิชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับในช่วงปลายปีนี้ หากภาครัฐมีการเปิดรับซื้อพลังงานจากไฮบริด ในส่วนของไอเฟคนั้น มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมวลไฮบริด เนื่องจากเรามีโมเดลของเราอยู่แล้ว โดยคาดว่า รัฐจะคัดเลือกจากรายที่เสนอราคาขายไฟในอัตราที่ต่ำกว่า ซึ่งถ้าอยู่ที่ระดับ 3.66 บาทต่อหน่วย ถือว่าเป็นระดับราคาที่รับได้ และมีความเหมาะสม
“ยอมรับว่า ไฮบริดสามารถกดราคาค่าไฟฟ้าลงได้ตามที่ภาครัฐต้องการได้ ซึ่งในอนาคตเราจะเห็นราคาไฟฟ้าถูกลงได้อีกเมื่อมีพลังงานทดแทนเข้ามา”
นายวิชัย กล่าวต่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐต้องการผู้เข้าร่วมประมูลไฮบริด ประมาณ 300 เมกะวัตต์ โดยประเมินว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลรายใด สามารถดำเนินการได้ แต่ในส่วนของไอเฟค สามารถผลิตได้ประมาณ 100-200 เมกะวัตต์ ส่วนธุรกิจพลังงานขยะ ไอเฟคสามารถที่จะเริ่มกำลังการผลิตได้ประมาณอีกกว่า 1 ปี แต่พลังงานส่วนนี้ ไอเฟคมีใบอนุญาตในการประดำเนินการเรียบร้อยแล้ว