“ไอวินด์” คว้ารางวัล “ดีเด่น” ด้านพลังงานทดแทนประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า ในงาน “ไทยแลนด์ เอ็นเนอร์ยี่ อวอร์ด 2017” ขณะที่ “วิชัย” เผยปลายปีเตรียมพร้อมเข้าร่วมประมูลไฮบริดหากรัฐเปิดรับซื้อ
นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ประธานกรรมการ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC เปิดเผยว่า รู้สึกดีใจ และมีความภาคภูมิใจ กับบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ ไอวินด์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไอเฟค ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทดีเด่นด้านพลังงานทดแทน ประเภทโครงการที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า หรือ On Grid
ไอวินด์ เป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตั้งอยู่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี ดร. สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้นำส่งผลงานโครงการสวนกังหันลมเลียบชายฝั่ง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมประกวดในงาน Thailand Energy Awards 2017 ซึ่งงานดังกล่าวเป็นรางวัลสุดยอดด้านพลังงานไทยระดับสากล โดยเป็นรางวัลดีเด่นการลดใช้พลังงานและลดโลกร้อน
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ Thailand Energy Awards 2017 ด้านพลังงานทดแทน ลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจการไอวินด์ โดยมี ดร. สุเมธ ให้การต้อนรับ และพาเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม ซึ่งไอวินด์ ถือเป็นโครงการที่ทางไอเฟค ตั้งใจจะพัฒนาให้เป็นโครงการกังหันต้นแบบในลักษณะของ Wind Park (สวนกังหันลม) ซึ่งไม่ใช่ Wind Farm (ฟาร์มกังหันลม) อย่างที่หลายคนคุ้นเคย
ดร. สุเมธ สุทธภักติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ ไอวินด์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไอวินด์ได้ยึดถือ และปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อกำหนดต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างประหยัด รวมถึงข้อกำหนดอื่น ๆ
“โครงการสวนกังหันลมของไอวินด์ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการใช้ทรัพยากร และพลังงานอย่างรู้คุณค่า และเลือกใช้เทคโนโลยี่ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะวัสดุ อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณที่ต่ำ”
สำหรับโครงการไอวินด์นั้น ได้สร้างแล้วเสร็จ และเริ่มกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โครงการกังหันลมเลียบชายฝั่ง ปากพนัง เป็นโครงการพลังงานลมขนาดเล็ก แต่เป็น VSPP ที่มีขนาดใหญ่ หรือสูงสุด 10 เมกะวัตต์