นักวิชาการชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยโตช้า กดดันสถาบันการเงินปรับลดความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL เข้มงวดสินเชื่อปล่อยกู้มากขึ้น แม้ในช่วงนี้ไทยมีโอกาสน้อยที่จะซ้ำรอย “วิกฤตต้มยำกุ้ง” แต่เศรษฐกิจที่โตช้าส่อสัญญาณเกิดปัญหา “กับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)” สูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เปรียบเสมือนสภาวะต้มกบ แนะภาครัฐ และเอกชนไทยเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อไม่ให้เกิดการย่ำอยู่กับที่จนกลายเป็น “วิกฤตต้มกบ” เนื่องจากปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านที่เคยล้าหลังกว่าไทยพัฒนาไปมาก หลายประเทศมีการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น ทั้งพม่า กัมพูชา และเวียดนาม เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันอย่างรวดเร็ว พร้อมชี้ภาคธุรกิจไทยควรมุ่งเน้นการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องในระยะยาวแทนการลงทุนเพื่อเก็งกำไรอย่างฉาบฉวย และภาครัฐควรเร่งยกระดับภาคการเกษตรโดยนวัตกรรม และการสร้างมูลค่าเพิ่ม
นายสุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าเราเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และไทยยังเป็นประเทศที่ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอยู่ เนื่องจากมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค และข้อได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในภูมิภาค แต่ภาคธุรกิจยังคงระมัดระวังในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคสถาบันการเงินที่เรียนรู้จากประสบการณ์ความผิดพลาดจากวิกฤตในอดีต มีการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL มากจนเกินไป ซึ่งการใช้วิธีนี้จะทำให้เกิดผลดีในอนาคตเนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงในการขาดทุนของภาคสถาบันการเงิน และทำให้ลูกค้าสถาบันการเงินมีวินัยทางการเงินมากขึ้นด้วย นอกจากนั้น แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มเกิดภาวะฟองสบู่บ้างจากปริมาณที่อยู่อาศัยรอการขายมากสวนทางต่อความต้องการของประชาชนที่ลดลง โดยเฉพาะในแถบชานเมือง แต่ยังเชื่อว่าในระยะต่อไปภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะเริ่มลดลงจากการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ ซึ่งทำให้จำนวนที่อยู่อาศัยรอการขายจะทยอยลดลงในอนาคต ประกอบกับการบริหารจัดการของภาครัฐที่มาถูกทาง โดยเฉพาะการส่งเสริมธนาคารรัฐในการออกผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน และสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่สำคัญที่ภาครัฐควรทำเพิ่มเติมคือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกิดการลงทุนในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ Reinvestment เช่น การนำผลกำไรที่ได้ไปต่อยอดซื้อเครื่องจักร หรือพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจในระยะยาว แทนที่จะนำผลกำไรไปใช้เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น การเก็งกำไรในตลาดหุ้น หรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากจะเป็นการพัฒนาธุรกิจของตนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะ และรายได้เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการสนับสนุนภาคธุรกิจทั่วไปแล้วนั้น ภาครัฐควรเร่งให้เกิดการพัฒนาในภาคเกษตรกรรมของประเทศซึ่งมีการจ้างงานถึงเกือบประมาณครึ่งหนี่งของกำลังแรงงานไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตรของประเทศเพื่อก้าวข้ามการแข่งขันในเรื่องราคากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยการยกระดับภาคธุรกิจและภาคการเกษตรจะเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถกระตุ้นการบริโภคของทั้งระบบเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนั้น การพัฒนาเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจ และเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศพม่า ที่มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศอันเนื่องมาจากความได้เปรียบของต้นทุนการผลิตที่ต่ำ และทรัพยากรที่มีมาก รวมถึงเวียดนามที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในหลากหลายด้าน ทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์ และสาธารณูปโภค เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมถึงแม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศพม่า กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และยังอยู่ในความสนใจของต่างชาติในการลงทุน แต่ประเทศเราก็ยังมีปัญหาการพัฒนาในหลายภาคส่วน ทั้งการวิจัยและพัฒนาของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ภาคการเกษตรที่ยังขาดประสิทธิภาพในการผลิต และการสร้างมูลค่าเพิ่ม ระบบการศึกษาที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ และระบบราชการที่ยังขาดประสิทธิภาพเต็มไปด้วยการคอรัปชัน เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจัยลบเหล่านี้จะเริ่มทยอยส่งผลทำให้ประเทศไทยเราย่ำอยู่กับที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้คอยฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศก่อให้เกิด “วิกฤตต้มกบ” ในปัจจุบัน ซึ่งสร้างผลกระทบต่อประเทศแตกต่างจาก “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ในอดีต ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทันทีทันใด ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง และกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ต่างจาก “วิกฤตต้มกบ” ในปัจจุบันที่ประเทศเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งกว่าที่เราจะรู้ตัวอีกทีก็อาจสายเกินกว่าที่จะปรับตัวแล้ว