xs
xsm
sm
md
lg

กลต. จ่อฟันอดีตบิ๊ก MBKET-ดึง “พนง.-ลูกค้า” ย้ายไปบริษัทใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.ล.ต. เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อร้องเรียน บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ที่ให้ตรวจสอบพฤติกรรม “บุญพร-ภูริภัทร” อดีตผู้บริหาร กระทำผิดจรรยาบรรณดึงพนักงาน 205 คน พ่วงพอร์ตกว่า 3 พันล้านบาท ย้ายไปบ้านใหม่ “บล.หยวนต้า” ด้าน “ภัทธีรา” เผยสมาคมฯ รับรู้ตั้งแต่ต้นเร่งประสานให้ทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ย ขณะที่ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ เดินหน้าหาหลักฐานส่งฟ้องเอาผิดทางกฎหมาย พบผู้ร่วมกระบวนการส่งอีเมลโอนข้อมูลสำคัญให้บริษัทใหม่

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เผยความคืบหน้า กรณีที่ นายมนตรี ศรไพศาล ประเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET ร้องเรียน นางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ และนายภูริภัทร เขียวบริบูรณ์ อดีตผู้บริหารบจ.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ประพฤติผิดจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจน

“เราได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจน ซึ่งทางก.ล.ต.มีกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียนอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน” นายปริย กล่าว

ด้าน นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ระบุ บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) มีสถานะเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมายเลข 19 ดังนั้น จึงต้องดำเนินธุรกิจบนบรรทัดฐานการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย กรณีดังกล่าวสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยเร่งดำเนินการไกล่เกลี่ย โดยประสานให้ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กับ บล. หยวนต้า เข้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

“เรามีความพยายามตั้งแต่ต้นที่จะประสานให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยเพื่อให้ปัญหามีทางแก้ไข ซึ่งทั้ง คุณมนตรี และคุณบุญพร ต่างอยู่ในธุรกิจหลักทรัพย์มานาน และต่างมีความรักในธุรกิจนี้ จึงให้ความร่วมมือกับทางสมาคมฯ ในระดับหนึ่ง เบื้องต้นขอเรียนชี้แจงว่า ทั้ง 2 ท่านไม่ต้องการให้กรณีที่เกิดขึ้นกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์เป็นวงกว้าง แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ก็จึงต้องอาศัยเวลาในการเจรจากัน” นางภัทธีรา กล่าว

นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ยอมรับว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ มีความต้องการบุคลากรที่ชำนาญ แม้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งพัฒนาบุคลากรใหม่ ๆ เข้าสู่ธุรกิจ แต่ต้องอาศัยเวลา และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพของบุคลากร

“การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจนี้อย่างเร็วที่สุดก็ประมาณ 3 ปี เพราะเจ้าหน้าที่ต้องสะสมประสบการณ์ ต้องดูพอร์ตเป็น ดังนั้น แต่ละโบรกเกอร์จึงให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณมนตรีเองก็ต้องการให้พัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ให้ก้าวหน้า ด้วยการพัฒนาบุคลากรใหม่ ๆ เข้ามารองรับความต้องการมากกว่าการดึงคน” นางภัทธีรา กล่าว

***กิมเอ็งเดินหน้าฟ้องทุกช่องทาง***

นายมนตรี ศรไพศาล ประเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมร้องเรียน และดำเนินการตามกฎหมายต่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะพบหลักฐานการกระทำที่ไม่เหมาะสมหลายกรณี ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจนั้น จะต้องคำนึงถึงเรื่องจรรยาบรรณเป็นหลัก

“ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมายตามขอบเขตที่เหมาะสม และหลักฐานที่บริษัทมีอยู่ในขณะนี้ หลังมาร์เกตติงถูกดึงตัวไปกว่า 200 คน ส่วนตัวอยากให้บริษัทหลักทรัพย์มีการพัฒนาบุคลากรมากกว่าการแย่งตัว ซึ่งถ้าย้ายงาน 2-3 คนถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ดึงไปถึง 200 คนถือว่าไม่เหมาะสม” นายมนตรี กล่าว

*** เปิดกระบวนการโอนข้อมูล MBKET ไป “หยวนต้า”

จากการสำรวจพบพฤติกรรมไม่เหมาะสมของอดีตพนักงาน บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง 3 ราย ประกอบด้วย น.ศ.สิทธิพน แสงพุ่ง อดีตผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์, นายภูษิต แก้วมงคลศรี อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน, และนายอติ อติกุล อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายตราสารอนุพันธ์ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2559 ระหว่างที่ยังคงเป็นพนักงาน บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง โดยทั้ง 3 รายได้ถ่ายโอนข้อมูลสำคัญจาก บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็งส่งไปยัง บล. หยวนต้า

***ดีงพนักงาน 205 คน-พอร์ตลูกค้ากว่า 3 พัน ล.

มีผลทำให้เกิดการดึงพนักงานของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ไปร่วมงานกับ บล. หยวนต้าฯ กว่า 205 คน เป็นผู้แนะนำการลงทุน และผู้จัดการสาขา 159 คน และพนักงานที่ทำงานสนับสนุนอีก 46 คน และทั้งหมดนี้มีการไปขึ้นทะเบียนทำงานกับ บล. หยวนต้าฯ แล้ว 88 คน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 60

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การย้ายที่ทำงานของพนักงานกลุ่มดังกล่าวทำให้มีลูกค้าของ MBKET มีการย้ายบัญชีซื้อขายหุ้นไปอยู่กับ บล. หยวนต้าฯ แล้ว 261 คน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3.04 พันล้านบาท

**ทำเป็นกระบวนการ***

จากการสืบถามพบว่า ช่วงเดือนเมษายน 59 นางสาวสิทธิพร ส่งข้อมูลภายในต่าง ๆ ของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ทางอีเมลไปให้นายภูษิต แก้วมงคล ประกอบด้วย 1. ค่าตอบแทนการขายของผู้แนะนำการลงทุน (Investment Consultant : IC) 2. รายชื่อผู้แนะนำการลงทุน 3. รายชื่อผู้จัดการสาขา และหัวหน้าทีมการตลาดของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ทั่วประเทศ 4. ข้อมูลผลประกอบการ ผลกำไร ขาดทุนของสาขา หรือทีมการตลาด 5. ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของสาขา หรือทีมการตลาด และ 6. ค่าตอบแทนการขายที่ผู้แนะนำการลงทุน ผู้จัดการสาขา และหัวหน้าทีมการตลาด เป็นต้น

โดยนายภูษิต มีการส่งอีเมลสอบถามนางสาวสิทธิพร เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งหมายถึงนายภูษิต สามารถพิจารณาเลือกดึงตัวบุคลากรผู้แนะนำการลงทุนของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ทั่วประเทศ รวมถึงลูกค้าที่มีมูลค่าปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ปริมาณมาก ๆ มาเป็นของ บล. หยวนต้าด้วย

นอกจากนั้น ระหว่างเดือน พ.ย. 58-ก.พ. 59 นายภูษิต ขณะที่ยังเป็นพนักงานของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ยังใช้อำนาจหน้าที่ร่วมกับพนักงานผู้ช่วยของนายภูษิต ในการช่วยเหลือบุคคลที่จะเข้าซื้อหุ้นเพื่อถือครองกิจการของ บล. เคเคเทรด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บล. หยวนต้า (ประเทศไทย) ทั้งในด้านข้อมูล และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งที่ บล. เคเคเทรด เป็นคู่แข่งในธุรกิจเดียวกับ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้าง และข้อบังคับการทำงาน

นายภูษิต ยังได้สั่งให้พนักงานผู้ช่วยรายงานข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ รวมถึงเข้าถึงฐานข้อมูลที่สำคัญของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และคัดลอกไฟล์ข้อมูลที่เป็นความลับสูงสุดออกไปจากระบบหลายรายการที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน และลูกค้าของบริษัท

ส่วนกรณีของนายอติ ได้ส่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์ และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ไปให้กับบุคคลใน บล. หยวนต้า และยังให้ความช่วยเหลือด้านธุรกิจ และการจัดทำแผนงานธุรกิจให้กับ บล. หยวนต้า ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของบริษัท ขณะที่เป็นพนักงานของ บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น