xs
xsm
sm
md
lg

กลต.จ่อฟันอดีตบิ๊กMBKET ดึง’พนง.-ลูกค้า’ย้ายไปบ.ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงข้อร้องเรียนบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ที่ให้ตรวจสอบพฤติกรรม “บุญพร-ภูริภัทร” อดีตผู้บริหาร กระทำผิดจรรยาบรรณดึงพนักงาน 205 คน พ่วงพอร์ตกว่า 3 พันล้านบาท ย้ายไปบ้านใหม่ “บล.หยวนต้า” ด้าน “ภัทธีรา” เผยสมาคมฯ รับรู้ตั้งแต่ต้นเร่งประสานให้ทั้งสองฝ่ายไกล่เกลี่ย ขณะที่บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ เดินหน้าหาหลักฐานส่งฟ้องเอาผิดทางกฎหมาย พบผู้ร่วมกระบวนการส่งเมลล์โอนข้อมูลสำคัญให้บริษัทใหม่

นายปริย เตชะมวลไววิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เผยความคืบหน้า กรณีที่ นายมนตรี ศรไพศาล ประเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET ร้องเรียน นางบุญพร บริบูรณ์ส่งศิลป์ และนายภูริภัทร เขียวบริบูรณ์ อดีตผู้บริหารบจ.เมย์แบงก์ กิมเอ็งฯ ประพฤติผิดจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ว่า ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจน

“เราได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริงให้เกิดความชัดเจน ซึ่งทางก.ล.ต.มีกระบวนการดำเนินการเกี่ยวกับการรับเรื่องร้องเรียนอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน” นายปริย กล่าว

ด้านนางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ระบุ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มีสถานะเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หมายเลข 19 ดังนั้นจึงต้องดำเนินธุรกิจบนบรรทัดฐานการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย กรณีดังกล่าวสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทยเร่งดำเนินการไกล่เกลี่ย โดยประสานให้บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง กับบล.หยวนต้า เข้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน

“เรามีความพยายามตั้งแต่ต้นที่จะประสานให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยเพื่อให้ปัญหามีทางแก้ไข ซึ่งทั้งคุณมนตรี และคุณบุญพร ต่างอยู่ในธุรกิจหลักทรัพย์มานาน และต่างมีความรักในธุรกิจนี้ จึงให้ความร่วมมือกับทางสมาคมฯ ในระดับหนึ่ง เบื้องต้นขอเรียนชี้แจงว่าทั้ง 2 ท่านไม่ต้องการให้กรณีที่เกิดขึ้นกระทบต่อธุรกิจหลักทรัพย์เป็นวงกว้าง แต่เมื่อต่างฝ่ายต่างมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน ก็จึงต้องอาศัยเวลาในการเจรจากัน” นางภัทธีรา กล่าว

นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ยอมรับว่าธุรกิจหลักทรัพย์ มีความต้องการบุคลากรที่ชำนาญ แม้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะเร่งพัฒนาบุคลากรใหม่ๆ เข้าสู่ธุรกิจ แต่ต้องอาศัยเวลา และความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นเครื่องพิสูจน์ศักยภาพของบุคลากร

“การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจนี้อย่างเร็วที่สุดก็ประมาณ 3 ปี เพราะเจ้าหน้าที่ต้องสะสมประสบการณ์ ต้องดูพอร์ตเป็น ดังนั้นแต่ละโบรกเกอร์จึงให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอย่างมาก ซึ่งคุณมนตรีเองก็ต้องการให้พัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ให้ก้าวหน้า ด้วยการพัฒนาบุคลากรใหม่ๆ เข้ามารองรับความต้องการมากกว่าการดึงคน” นางภัทธีรา กล่าว

***กิมเอ็งเดินหน้าฟ้องทุกช่องทาง***

นายมนตรี ศรไพศาล ประเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET เปิดเผยว่า ขณะนี้ริษัทอยู่ระหว่างเตรียมร้องเรียนและดำเนินการตามกฎหมายต่อหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะพบหลักฐานการกระทำที่ไม่เหมาะสมหลายกรณี ทั้งนี้การดำเนินธุรกิจนั้นจะต้องคำนึงถึงเรื่องจรรยาบรรณเป็นหลัก

“ตอนนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมาย ตามขอบเขตที่เหมาะสม และหลักฐานที่บริษัทมีอยู่ในขณะนี้ หลังมาร์เก็ตติ้งถูกดึงตัวไปกว่า 200 คน ส่วนตัวอยากให้บริษัทหลักทรัพย์มีการพัฒนาบุคลากรมากกว่าการแย่งตัว ซึ่งถ้าย้ายงาน 2-3 คนถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ดึงไปถึง 200 คน ถือว่าไม่เหมาะสม” นายมนตรี กล่าว

*** เปิดกระบวนการโอนข้อมูลMBKETไป”หยวนต้า”

จากการสำรวจพบพฤติกรรมไม่เหมาะสมของอดีตพนักงานบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง 3 รายประกอบด้วย น.ศ.สิทธิพน แสงพุ่ง อดีตผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์, นายภูษิต แก้วมงคลศรี อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน, และนายอติ อติกุล อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายตราสารอนุพันธ์ ตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2559 ระหว่างที่ยังคงเป็นพนักงานบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง โดยทั้ง 3 รายได้ถ่ายโอนข้อมูลสำคัญจาก บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งส่งไปยังบล.หยวนต้า

***ดีงพนักงาน 205 คน-พอร์ตลูกค้ากว่า 3 พันล.

มีผลทำให้เกิดการดึงพนักงานของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ไปร่วมงานกับ บล.หยวนต้าฯ กว่า 205 คน เป็นผู้แนะนำการลงทุน และผู้จัดการสาขา 159 คน และพนักงานที่ทำงานสนับสนุนอีก 46 คน และทั้งหมดนี้มีการไปขึ้นทะเบียนทำงานกับ บล.หยวนต้าฯ แล้ว 88 คน เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 60

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การย้ายที่ทำงานของพนักงานกลุ่มดังกล่าวทำให้มีลูกค้าของ MBKET มีการย้ายบัญชีซื้อขายหุ้นไปอยู่กับ บล.หยวนต้าฯ แล้ว 261 คน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 3.04 พันล้านบาท

**ทำเป็นกระบวนการ***

จากการสืบถาม พบว่า ช่วงเดือนเมษายน 59 นางสาวสิทธิพร ส่งข้อมูลภายในต่าง ๆ ของ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ทาง อีเมล์ ไปให้นายภูษิต แก้วมงคล ประกอบด้วย 1.ค่าตอบแทนการขายของผู้แนะนำการลงทุน ((Investment Consultant:IC) 2.รายชื่อผู้แนะนำการลงทุน 3.รายชื่อผู้จัดการสาขา และหัวหน้าทีมการตลาดของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งทั่วประเทศ 4.ข้อมูลผลประกอบการ ผลกำไร ขาดทุนของสาขาหรือทีมการตลาด 5.ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของสาขาหรือทีมการตลาด และ 6.ค่าตอบแทนการขายที่ผู้แนะนำการลงทุน ผู้จัดการสาขา และหัวหน้าทีมการตลาด เป็นต้น

โดยนายภูษิต มีการส่งอีเมล์สอบถามนางสาวสิทธิพร เกี่ยวกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งหมายถึงนายภูษิต สามารถพิจารณาเลือกดึงตัวบุคลากรผู้แนะนำการลงทุนของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งทั่วประเทศ รวมถึงลูกค้าที่มีมูลค่าปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ปริมาณมากๆ มาเป็นของ บล.หยวนต้าด้วย

นอกจากนั้น ระหว่างเดือนพ.ย.58-ก.พ.59 นายภูษิต ขณะที่ยังเป็นพนักงานของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งยังใช้อำนาจหน้าที่ร่วมกับพนักงานผู้ช่วยของนายภูษิต ในการช่วยเหลือบุคคลที่จะเข้าซื้อหุ้นเพื่อถือครองกิจการของ บล.เคเคเทรด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ทั้งในด้านข้อมูลและการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งที่ บล.เคเคเทรด เป็นคู่แข่งในธุรกิจเดียวกับบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งซึ่งเป็นการผิดสัญญาจ้างและข้อบังคับการทำงาน

นายภูษิต ยังได้สั่งให้พนักงานผู้ช่วยรายงานข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ รวมถึงเข้าถึงฐานข้อมูลที่สำคัญของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งผ่านระบบคอมพิวเตอร์และคัดลอกไฟล์ข้อมูลที่เป็นความลับสูงสุดออกไปจากระบบหลายรายการที่เกี่ยวข้องกับพนักงานและลูกค้าของบริษัท

ส่วนกรณีของนายอติ ได้ส่งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็งไปให้กับบุคคลใน บล.หยวนต้า และยังให้ความช่วยเหลือด้านธุรกิจและการจัดทำแผนงานธุรกิจให้กับ บล.หยวนต้า ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจของบริษัท ในขณะที่เป็นพนักงานของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น