ประธานฯ ไอแบงก์ เชื่อแผนโอน NPF กว่า 5 หมื่นล้านบาท จะมีความชัดเจนในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ ระบุเข้าชี้แจง คตช. เพื่อเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการสร้างความเสียหายให้แก่ธนาคารแล้ว คาดจะมีผู้ที่ต้องโดนเอาผิดทั้งทางอาญา และแพ่ง เกินกว่า 100 ราย ทั้งยังเชื่อจะมีลูกหนี้อีกหลายรายที่เตรียมเจรจาปิดบัญชีกับแบงก์ก่อนที่ตัวเองจะถูกโอนไปยัง IAM หลังคลังตั้งนโยบายต้องทวงหนี้คืนจากลูกหนี้ให้ครบทั้งจำนวน ด้านความคืบหน้าการทำธุรกิจ ไอแบงก์ประสบความสำเร็จในการขยายฐานรายได้ค่าธรรมเนียมบริการประกันชีวิตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 300 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 59
นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการดำเนินการปรับโครงสร้างการเงินของธนาคาร หลังเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ลงมติอนุมัติแผนปรับโครงสร้างฯ ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอมาว่า ธนาคารยังตอบไม่ได้ว่า แผนการเพิ่มทุนใหม่วงเงิน 18,100 ล้านบาทนั้น จะเริ่มดำเนินการได้เมื่อใด เนื่องจากกระทรวงการคลังยังมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไข พ.ร.บ. จัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 เพื่อขยายสัดส่วนการถือหุ้นในไอแบงก์ จากไม่เกิน 49% เป็นมากกว่า 49% จึงจำเป็นต้องรอให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายเสร็จสิ้นเสียก่อน
สำหรับวัตถุประสงค์ในการแก้ไขกฎหมายในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นไปเพื่อรองรับแผนการถือหุ้นเพิ่มทุนใหม่จากกระทรวงการคลังเป็นการชั่วคราวจนกว่าไอแบงก์จะได้ผู้ร่วมทุนใหม่เข้ามาได้แล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะเปิดทางให้การเจรจาขายหุ้นเพิ่มทุนแก่พันธมิตรร่วมทุนนั้น สามารถดำเนินการได้ง่ายขึ้น
“ที่ผ่านมา มันติดเงื่อนไขว่า ผู้สนใจเข้าร่วมเป็นพันธมิตรก็ต้องการเห็นไอแบงก์ทำการปรับสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์กลับมาเป็นไม่ให้ติดลบก่อนที่การเจรจาร่วมทุนจะเริ่มได้ เราก็เลยต้องขอกระทรวงการคลัง เพราะเงื่อนไขเดิมให้หาพันธมิตรก่อนแล้วค่อยเพิ่มทุนนั้น มันทำไม่ได้” นายชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์ที่ยังติดลบอยู่ในปัจจุบันจะมีเพียงพอต่อการทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อในช่วงระหว่างที่ยังต้องรอเวลาการเพิ่มทุนใหม่หรือไม่นั้น นายชัยวัฒน์ ย้ำว่า ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เนื่องจากธนาคารจะมีเม็ดเงินใหม่อีกกว่า 20,000 ล้านบาท กลับเข้ามา หลังจากที่ไอแบงก์ได้ขาย NPF บางส่วนออกไปแล้ว อีกทั้ง ปัจจุบัน ธนาคารก็ยังไม่มีการลดทุน เนื่องจากต้องรอให้การแก้ไขกฎหมายของกระทรวงการคลังเสร็จลงเสียก่อน
เชื่อจะมีลูกหนี้เจรจาขอชำระบัญชี หวังเลี่ยงถูกโอนไปอยู่กับเอเอ็มซี
ส่วนแผนการโอนหนี้เสีย (NPF) ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มลูกค้ามุสลิม มูลค่า 50,250 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมที่มีราว 100,000 ล้านบาท เพื่อปรับสถานะของธนาคารให้กลับไปเป็นธนาคารที่ดี (Good Bank) นั้น ประธานกรรมการไอแบงก์ ระบุว่า ได้เตรียมตัวพร้อมแล้ว ขณะนี้จึงเหลือเพียงรอคำสั่งจากกระทรวงการคลังว่า จะให้ดำเนินการได้เมื่อใด ทั้งนี้ ตนเชื่อว่า ภายในสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ จะมีความชัดเจนในเรื่องการโอนหนี้ NPF ดังกล่าวเข้าสู่บริษัทบริหารสินทรัพย์ (IAM) ซึ่งกระทรวงการคลังจะจัดตั้งขึ้นใหม่โดยกระทรวงการคลังจะเข้าถือหุ้นทั้ง 100%
“เมื่อโอนหนี้ไปแล้ว เราก็จะมีการปรับฐานกันผลประกอบการใหม่ใน 5 เดือนแรกของปี 60 เรายังคงติดลบจากการตั้งสำรอง NPF อีกเกือบ 2,000 ล้านบาท และเราก็หวังว่า ทุกอย่างที่จะเข้ามา รวมถึง การที่ได้ขาย NPF ออกไป เพื่อทำให้เราเป็น Good Bank แล้ว เราก็จะได้ไปเจรจาทำมาหากินกับของใหม่เสียที” นายชัยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อปี 59 ไอแบงก์มีผลประกอบการทั้งปีติดลบ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรอง NPF เพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ในปี 60 ไอแบงก์ก็หวังว่า จะสามารถรักษาผลดำเนินงานไม่ให้ติดลบ
อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ ก็ยังเชื่อว่า เมื่อมีความชัดเจนในเรื่องเวลาการโอนหนี้เสียไปยัง IAM ของกระทรวงการคลังแล้ว ก็น่าจะยังมีลูกหนี้อีกหลายรายที่ต้องการขอแก้ไขปัญหาของตัวเอง โดยการปิดบัญชีลูกหนี้กับธนาคารก่อนที่ตัวเองจะต้องถูกโอนไปยัง IAM นั้น ก็น่าจะเป็นตัวช่วยได้อีกตัว ทั้งนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังได้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการหนี้เสียดังกล่าวแล้วว่า IAM ต้องติดตามทวงคืนให้ครบจนเต็มมูลหนี้ที่ลูกหนี้แต่ละรายได้เคยก่อไว้ และกระทรวงการคลังจะไม่ยินยอมให้มีการเจรจาขอลดหนี้ (Hair Cut) หรือปล่อยให้มีการล้มบนฟูกกันอีก
“เราพยายามจะขอกลับไปทำธุรกรรมทางการเงินเดิมหลังสามารถโอนหนี้เสียออกไป และได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินที่ให้ผลตอบแทนตามหลักศาสนาอิสลามกลับมาอีก 20,000 ล้านบาท ตามการตีราคาหนี้ตามมูลค่าทางบัญชีแล้ว ธนาคารก็จะพยายามดำเนินการให้ผลประกอบการให้พลิกกลับมาเป็นไม่ติดลบ เพียงแต่ขอให้เร่งเรื่องการโอนหนี้ ซื้อหนี้ บวกกับที่เราคาดว่า จะมีลูกหนี้บางรายขอชำระบัญชีเพื่อไม่ให้ตัวเองไม่ต้องติดอยู่ใน IAM ก็จะเป็นตัวช่วย เพราะเราจะสามารถปรับเงินสำรองหนี้ในส่วนนี้กลับมาได้ ส่วนลูกหนี้กลุ่มนี้จะมีเยอะแค่ไหน เท่าที่มองไว้ น่าจะเป็นหลักพันล้านบาท” ประธานกรรมการไอแบงก์ กล่าวเพิ่มเติม
ส่วนแนวทางการหาพันธมิตรใหม่หลังจากนี้ นายชัยวัฒน์ ย้ำว่า ตนจะไม่เอาไอแบงก์ไปเร่ขาย และจะไม่ทำการเปิดประมูลอีก หากมีสถาบันการเงินใดที่จะเข้ามาเจรจา ไอแบงก์ก็พร้อมจะเจรจาด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีผู้ที่ขอเจราร่วมทุนทั้งจากต่างประเทศ และในประเทศ ได้ร่วมลงนามสัญญารักษาความลับเพื่อจะเข้าเจรจากับไอแบงก์แล้ว
“ถ้าเป็นพวกในประเทศเขาก็จะไปจับมือกับกองทุนอิสลาม เพราะหนึ่งในเงื่อนไขการหาพันธมิตร คือเขาไม่ใช่มีแค่เงินลงทุน แต่ต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการธุรกรรมทางการเงินที่ตรงกับหลักชะรีอะห์ของศาสนาอิสลามด้วย ดังนั้น อย่างน้อยผู้จะเข้าร่วมทุนที่ไม่ได้เป็นสถาบันการเงินที่ทำตามหลักการชะรีอะห์ ก็ต้องแปะกองทุนฯ มา เพราะไม่เช่นนั้น จะคุยกับเราไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ไอแบงก์ก็ยังไม่ได้ปิดรับการเจรจาร่วมทุนนะ เราพยายามจะหาพันธมิตรที่ดีที่สุด มีความโปร่งใส และเราก็อยากให้ได้ผลตอบแทนที่ดีคืนกลับมาให้ประเทศด้วย ” ประธานกรรมการไอแบงก์ กล่าวเพิ่มเติม
เข้าแจงที่มาความเสียหายกับ สตช. เน้นเนื้อหาตามผลสอบแบงก์ชาติ
สำหรับประเด็นการหาตัวผู้ที่ทำให้เกิดหนี้เสียก้อนโตในไอแบงก์ตามคำสั่งของ พล.อ. ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า พวกตนได้เข้าชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดต่อคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) แล้ว โดยแจ้งรายละเอียดตามแหล่งที่มาจากรายงานการตรวจสอง และการตั้งข้อสังเกตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงผลจากการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ที่ส่งเข้ามายังไอแบงก์เองด้วย
“เรื่องต่าง ๆ เราได้ส่งไปหมดแล้ว แต่ต้องบอกว่า เรื่องมันเยอะมาก และเขาจะเรียกพวกเราเข้าไปสอบเพิ่มเติมอีกเมื่อไหร่ เราก็ต้องไปให้ปากคำกันอีก แต่เราคาดว่า จะมีชื่อผู้ที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในอดีต และได้ออกจากไอแบงก์ไปแล้วเกินกว่า 100 รายจะต้องได้รับโทษทั้งทางแพ่ง และอาญา” ประธานกรรมการไอแบงก์ กล่าว
ปรับตัวกลับสู่การเป็นแบงก์อิลสาม
ส่วนภาพรวมการปรับปรุงแนวทางการทำธุรกิจที่สำคัญนั้น นายชัยวัฒน์ ย้ำว่า ในช่วงปีที่ผ่าน ๆ มา ธนาคารได้ทำการปรับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายกลับลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว โดยที่ผ่านมา ต้นทุนดังกล่าวนี้จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าของธนาคารโดยทั่ว ๆ ไปอยู่ราว 100% รวมทั้งธนาคารยังได้ปรับลดจำนวนสาขาลงเหลือ 104 สาขา จากที่เคยมี 136 สาขา โดยมุ่งเน้นสาขาตามห้างสรรพสินค้าที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูง ๆ
นอกจากนี้ ธนาคารได้ก้าวกลับเข้าสู่บริบทของธนาคารที่ทำหน้าเป็นธนาคารอิสลามอย่างแท้จริง เนื่องจากในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ไอแบงก์ไม่ได้ดูแลลูกค้าที่เป็นชาวมุสลิม อีกทั้ง ยังไม่เคยออกไปพบปะเยี่ยมเยียนจุฬาราชมนตรี เพื่อรับฟังคำแนะนำที่ดี ๆ อีกด้วย
ประธานกรรมการไอแบงก์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อปลายปี 59 ธนาคารได้เริ่มกลับมาทำธุรกรรมเพื่อหารายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียมการให้บริการด้านการประกันกับลูกค้าอิสลามให้มากขึ้น พยายามผลักดันพนักงานให้เข้าสอบใบอนุญาตตัวแทนขายประกันให้มากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบัน ธนาคารได้ประสบความสำเร็จทั้งในแง่การเพิ่มจำนวนพนักงานที่สามารถสอบผ่านใบอนุญาตตัวแทนฯ ขึ้นเป็น 70% หรือราว 1,260 คน จากจำนวนพนักงานทั้งหมดที่มีกว่า 1,800 ราย
ขณะเดียวกัน รายได้จากค่าธรรมเนียมการให้บริการดังกล่าวเมื่อปี 59 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 300 ล้านบาท จากปีก่อน ๆ หน้าที่มีไม่ถึง 10 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นรายได้ที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ธนาคารแห่งนี้ได้ก่อตั้งขึ้นมา แผนการขยายรายได้ค่าธรรมเนียมการให้บริการด้านการประกันชีวิตในครั้งนี้เป็นผลจากความร่วมมือกับบริษัทไทยประกัน ซึ่งเป็นพันธมิตรกับไอแบงก์ อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ ยังกล่าวว่า ในปี 60 ธนาคารยังได้บริษัทเมืองไทยประกันชีวิต เข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อร่วมกันทำโครงการประกันชีวิต และประกันภัย ตามแนวหลักของศาสนาอิสลามในระยะที่ 2 ด้วย
สำหรับการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ไอแบงก์ได้หาผู้รับผิดชอบที่มีความรู้โดยตรงด้านการให้บริการนี้เข้ามาเพิ่มเติม และยังมีความร่วมมือเพื่อทำสินเชื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เช่น สินเชื่อเพื่อสร้างอพาร์ตเมนต์สำหรับชาวมุสลิม ขณะที่สินเชื่อรายใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดนั้น ไอแบงก์ได้มีการจัดทำโปรแกรมสินเชื่อขึ้นมาใหม่ เพื่อรองรับการขออนุญาตกระทรวงการคลังปล่อยสินเชื่อเกิน 200 ล้านบาทแล้ว