xs
xsm
sm
md
lg

The story of หุ้นแห่งปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ปี 2559 เป็นปีที่ SET Index ให้ผลตอบแทน 18.10% ฝ่ายวิจัย บล.กสิกรไทย ระบุระหว่าง 1 ม.ค.-14 ธ.ค.59 โดยเป็นผลตอบแทนดีที่สุดในรอบ 4 ปี และสูงกว่า CAGR รอบ 10 ปีที่ 9.40% โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวในช่วง 7 เดือนแรก SET Index ปรับฟื้นขึ้นสูงที่สุดกว่า 20% และ Forward PER ของตลาดขึ้นไปแตะ 17 เท่า ปัจจัยสนับสนุนหลักคือ ธนาคารกลางหลักของโลกใช้นโยบายกดดอกเบี้ยต่ำติดลบ เช่น ธนาคารกลางญี่ปุ่น ประกาศใช้ดอกเบี้ยเงินฝากระหว่างธนาคาร (Deposit Rate) -0.10% ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดพันธบัตร และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีของญี่ปุ่นปรับลงจนทำระดับติดลบเป็นประวัติการณ์ที่ -0.27%

        เมื่ออัตราผลตอบแทนในสินทรัพย์ปลอดภัยลดลงต่ำ ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงซึ่งถูกแรงขายกดดันจากการชะลอทางเศรษฐกิจของจีนมาตั้งแต่ปี 2557 กลายเป็นโอกาสสำหรับการโยกเงินออกจากสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อเข้าเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่ง SET Index ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของกระแสเงินทุนจากต่างประเทศ โดย 9 เดือนแรกของปี 2559 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิสะสม 1.32 แสนล้านบาท บวกกับกระแสเงินลงทุนในประเทศที่มากขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ระดับต่ำกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่ทำให้ตลาดยอมรับที่จะซื้อขาย PER ที่แพงมากขึ้น 14.5-17 เท่า (ในทางตรงกันข้ามหากเป็นแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น ช่วงกลางปี 2553-2554 จะซื้อขายกันระดับ PER ที่ถูกลงเหลือ 11.5-14.5 เท่า)

ปี 2559 เป็นปีที่ตลาดหุ้นผันผวนสูง ตลาดหุ้นเป็น “ขาขึ้น” มาตั้งแต่ต้นปี แม้ว่านักลงทุนต่างชาติ “ขาย” มากกว่าซื้อจนถึงประมาณเดือนกันยายน นักลงทุนต่างชาติกลับมา “ซื้อสุทธิ” ครั้งแรกในรอบหลายปีดันดัชนีทรงตัวตั้งฐานพร้อมจะปรับตัวขึ้น จนเดือนตุลาคมดัชนีผันผวนต่อเนื่องถึงเดือนธันวาคม ปัจจัยกดดันทั้งมติคณะกรรมการนโนบายการเงิน (FOMC) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% รวมถึงการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือ OPEC และนอกกลุ่มโอเปก บรรลุข้อตกลงลดกำลังการผลิตน้ำมันเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2560

ทั้งปี 2559 แล้วมีเพียงหุ้นไม่กี่ตัวที่มี story เชิงบวก และราคาหุ้นที่เป็นขาขึ้นตลอดทั้งปี ทีมเศรษฐกิจผู้จัดการรายวัน 360 เลือก TOP 3 หุ้น story แห่งปีนำเสนอ ตัวแรกที่เราเลือก คือ

บริษัทคาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ซื้อขายวันแรก 21 พฤศจิกายน 2557 ราคา IPO 28.00 บาท ปิดเทรดวันแรก 32.50 บาท เพิ่มขึ้น +16.07% จากราคาขาย IPO มูลค่าซื้อขาย 8189.67 ล้านบาท จากนั้นราคาหุ้น CBG ก็ปรับตัวขึ้นตลอด 3 ปี จนสามารถ All Time High ได้สำเร็จที่ราคา 80.00 บาท เพิ่มขึ้น 185.72% จาราคา PIO แน่นอนว่าใครเกาะหุ้นตัวนี้มาตลอดก็ได้กำไรกลับไปอย่างงาม มาดู The story of CBG กัน

ปัจจุบัน ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในไทยไม่ค่อยเติบโต 9 เดือนแรกของปี 59 ติดลบ 1% ขณะที่ตลาดทั่วโลกมีมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาท และคาราบาวแดง มีการเติบโตจากช่องทางต่างประเทศถึง 40% ดังนั้น CBG จึงหันไปทำตลาดในประเทศอังกฤษ และขยายต่อไปยังอเมริกา และยุโรป ด้วยกลยุทธ์ “สปอร์ต มาร์เกตติ้ง” โดยใช้ฟุตบอลเป็นทางลัดเพราะเป็นกีฬายอดนิยมไปทั่วโลก และสามารถยกระดับแบรนด์ให้มีความสากล

CBG เข้าเป็นสปอนเซอร์ระดับพันธมิตรหลักกับฟุตบอลเชลซี สโมสรในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ หรือ EFL ภายใต้ชื่อ “คาราบาวคัพ” นาน 3 ฤดูกาล เริ่มปี 2016-2019 ใช้เงินลงทุนรวม 18 ล้านปอนด์ คิดเป็นเงินไทยราว 800-900 ล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 3 งวด ครั้งละ 5 ล้านปอน์ 6 ล้านปอนด์ และ 7 ล้านปอนด์ในปีสุดท้าย

สิ่งที่ CBG ได้นั้น “เกินคุ้ม” เนื่องจากโลโก้ของ “คาราบาวแดง” จะไปปรากฏอยู่บนเสื้อของนักฟุตบอลทุกคนที่ลงแข่งขัน รวมถึงตั๋วเข้าชมทุกแมตช์ ป้ายโฆษณาในทุกสนามที่มีการถ่ายทอดสด การประดับสนามเวมบลีย์ที่ใช้ในการแข่งขันรอบลึกๆ จนถึงนัดชิงชนะเลิศ บอร์ดประกาศต่างๆ แบ็กดร็อปที่ใช้ในการสัมภาษณ์ก่อน และหลังการแข่งขันทุกแมตช์ และอื่นๆ อีกมากมาย

        นอกจากนี้ ยังมีทีมสิงโตน้ำเงินคราม เชลซี ที่ CBG เซ็นสัญญาไปเมื่อ 26 พ.ย.58 วงเงิน 30 ล้านปอนด์ หรือราว 1,620 ล้านบาท โดยโลโก้เครื่องดื่มชูกำลังจากเมืองไทยจะปรากฏโฉมบนเสื้อแข่งทุกตัวของทางสโมสรนับจากนี้ไปเป็นเวลา 3 ปีเต็ม รวมไปถึงสื่อหลักต่างๆ ด้วย เช่น ป้ายโฆษณาข้างสนาม แบ็กดร็อปหลังโต๊ะแถลงข่าว นิตยสารของสโมสร

      ด้านการตลาดในประเทศ CBG แตกไลน์สินค้าใหม่เข้าสู่ตลาดกาแฟสำเร็จรูปทรีอินวันภายใต้แบรนด์คาราบาว โดยใช้คอนเซ็ปต์สินค้า “เริ่มต้นวันใหม่ไปดื่มกาแฟคาราบาว” มีสินค้าด้วยกัน 2 รสชาติ ได้แก่ ริช อโรมา และเอสเปรสโซ

      CBG ยังเดินเครื่องค้าปลีกเต็มรูปแบบด้วยการเข้าถือหุ้นกว่า 80% ใน “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” ร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่มีฐานหลักในพื้นที่ภาคกลาง และภาคตะวันตก เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ตั้งเป้า 600 สาขาภายใน 3 ปี เตรียมความพร้อมระบบบริหารสินค้า-ลอจิสติกส์ สร้างโมเดลร้านค้าส่ง “ซีเจคุ้มราคา” และค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ “ซีเจ เอ็กซ์เพรส” ร้านค้าปลีกความงามภายใต้แบรนด์ “นายน์” จะเข้ามามีบทบาทสอดคล้องต่อเทรนด์การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกความงามที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทุกปี

    แผนการดำเนินธุรกิจทั้งหมดส่งให้ CBG ขึ้นแท่นขวัญใจคอชอร์ตหุ้น มีชื่อติดโผหุ้นทำยอด ชอร์ตเซล หลักล้านหุ้นขึ้นไปอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนธันวาคม 2559 บล.เออีซี แนะนำ “ซื้อ” ด้วยมูลค่าพื้นฐานปี 60 ที่ 85 บาท ด้วยความมั่นใจศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของ CBG บวกกับราคาหุ้นปัจจุบันมี Upside 9.3% จากพื้นฐานปี 2560 (วิธี DCF) ที่ 85 บาท และคาดมีเงินปันผลจ่ายจากกำไรช่วง 2H59 ที่หุ้นละ 0.66 บาท คิดเป็น Div. Yield 0.9%

บริษัท จัสมิน เทเลคอม หรือ JAS สาเหตุที่เรายก JAS เป็นหุ้นแห่งปีแม้ The story of JAS จะหวือหวาเกินไปเพราะ

           ราคาสามารถทำ All Time High ได้สำเร็จ ที่ราคา 10.20 บาท หลังจากที่มีความพยายามจะสร้างจุดสูงสุดใหม่มาแล้วหลายครั้งจากกราฟ แต่ภายในวันนั้นเองราคาหุ้นก็ถูกเทขายอย่างหนัก จนราคากลับมาอยู่ที่ระดับ 8 บาทต้นๆ (ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2559) ถึงอย่างไร ราคาหุ้นสามารถเกาะแนวโน้มขาขึ้นระยะกลางได้ตลอดทั้งปี โดยใช้เส้น EMA35 เป็นตัววัด หากนับจากจุดต่ำสุดที่ราคาประมาณ 3 บาท เมื่อเดือนมีนาคม 2559 ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 10.20 หากใครเกาะหุ้นตัวนี้มาตลอด ปีนี้ฟันกำไรได้ 3 เด้งกว่าๆ ทีเดียว

        จุดเปลี่ยนสำคัญก็คือ การทิ้งใบประมูล 4G ที่ได้มาตั้งแต่ปลายปี 2558 โดยให้เหตุผลว่าไม่สามารถหาแหล่งเงินทุนมาใช้จ่ายค่าใบอนุญาตได้ตามกำหนด แต่แทนที่จะเป็นข่าวร้าย กลับกลายเป็นแรงบวกสำคัญที่ทำให้หุ้น JAS วิ่งยาวตลอดทั้งปีโดยแทบไม่มีแวะจะพักฐานเลย เพราะโดยพื้นฐานของ JAS ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ ถือว่าดีอยู่แล้ว และยังไม่ต้องลงทุนขนาดใหญ่กับโครงข่าย 4G ที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นการลงทุนที่ “เกินตัว”

     มูลค่าซื้อขายถูกใจนักเก็งกำไร ต้องยอมรับว่าหุ้น JAS เป็นขวัญใจของนักเก็งกำไรทั้งรายใหญ่ และรายเล็ก ด้วยราคาหุ้นที่ไม่สูงมากนัก มูลค่าซื้อขายต่อวันที่ติด Most Active Value แทบทุกวัน และแรงเหวี่ยงของราคาต่อวัน หุ้นตัวนี้จึงเป็นที่โปรดปรานของนักเก็งกำไร (แม้คนที่ถือยาวจะกินได้คำใหญ่กว่าก็ตาม) เห็นได้จากทุกโบรกเกอร์ที่ออก DW ต้องมีหุ้น JAS ออกมาเสนอขายแทบทุกแห่ง รวมถึงหุ้นลูกอย่าง JAS-W3 ที่มีราคาหหวือหวาไม่แพ้กัน

     สตอรี่ที่หวือหวาตลอดทั้งปีเรียกว่าคนที่จิตอ่อน เล่นหุ้นตัวนี้ไม่ได้เลยทีเดียว เพราะมีความหวือหวาสูงมาก ตั้งแต่รับซื้อหุ้นคืนที่ราคา 5 บาท การประกาศปันผลพิเศษ ล่าสุด กับการตัดสินใจรับซื้อหุ้นทั้งหมด (Tender Offer) ของ CEO และผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง พิชญ์ โพธารามิก ในราคา 7.25 บาท ถือว่าสร้างเซอร์ไพรส์ให้แก่ตลาดอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด ดังนั้น Tender Offer ที่ 7.25 บาท จะกลายเป็นแนวรับสำคัญที่ยากจะหลุดลงไปจากนี้
สุดท้ายไม่ท้ายสุดที่เราเลือกมาคือ บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN

  TKN ถือเป็นหุ้นที่พึ่งเทรดได้เพียง 1 ปีเต็มสามารถ All Time High ได้ถึง 27.50 บาท เพิ่มขึ้น 587.50% จาราคา PIO ไม่หยิบมาก็ไม่ได้ผลงานโดดเด่นเบียด GL JAS วิ่งเข้าวิน SET50 มาได้อย่างสวยงามขนาดนี้ The story of TKN คงเย้ายวนไม่น้อยเพราะหลายโบรกเกอร์ถึงกับยกให้เป็น Top picks ปี 2560 หรือปี 2017 ทีเดียว โดยประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่ 32.00 บาท จากผลกำไรเติบโตโดดเด่นทั้งปี 2559-2562 เฉลี่ยแบบ CAGR มากเป็น 38% ขณะที่ ROE ก็อยู่ในเกณฑ์สูงมาก โดยคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2559 จะอยู่ที่ระดับ 38% ด้านฐานะการเงินยังค่อนข้างดี โดยใช้เงินสดสุทธิ (Net Cash Position) มาอย่างต่อเนื่อง

บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TKN เพิ่งเข้ามาซื้อ-ขายใน SET เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2558 ด้วยราคา IPO ที่ 4 บาท ปิดเทรดวันแรกที่ 5.75 บาท สูงกว่าราคา IPO 43.75% จากนั้นราคายังรักษาระดับร้อนแรงได้ไม่หยุด ทะลุมายืนที่ราคาเกิน 2 เท่าของราคาจองในช่วงสิ้นปี 2558 ได้อย่างไม่ยากเย็น

TKN จ่ายปันผลแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 59 ในอัตรา 0.1050 บาทต่อหุ้น และวันที่ 7 กันยายน 59 ในอัตรา 0.19 บาทต่อหุ้น ไม่น่าตกใจเพราะ TKN โชว์ศัยกภาพการทำกำไรที่โดดเด่นตั้งแต่ก่อนเข้าเทรดแล้ว โดย 9 เดือนแรกของปี 2558 TKN มีกำไรสุทธิ 245 ล้านบาท เติบโตถึง 128% จากกำไรสุทธิ 107 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปี 2557 เปิดประเดิมไตรมาส 1/59 TKN ยังคงโชว์ผลประกอบการสูงสุดเป็นประวัติการณ์สวนทางวิกฤตเศรษฐกิจในขณะนั้นด้วยยอดขาย 1,018 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46% และกำไร 161 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 213% จากช่วงเดียวกันปี 58 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
    กลยุทธ์เด็ดที่ผลักดันเถ้าแก่น้อย จาก Local Brand สู่ Asia Brand คือ “Seaweed is สาหร่ายเถ้าแก่น้อย”  จากนั้น CEO TKN “อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” เดินหน้าเจาะร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด และซูเปอร์มาร์เกตต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนสามารถพาสินค้าหัวหอก “สาหร่ายเถ้าแก่น้อย” ออกไปโล่นแล่นถึง 35 ประเทศทั่วโลก มุ่งเน้นตลาดจีนเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ขณะเดียวกัน ก็สร้างปรากฏการณ์เขย่าตลาดสแน็ก จับมือ “กูลิโกะ” ผู้ผลิตและจำหน่ายบิสกิตรายใหญ่ทั้งไทยและญี่ปุ่น พัฒนาผลิตภัณฑ์บิสกิตรสชาติใหม่ควบคู่กับการเดินผลักดันสินค้าใหม่สร้างความแตกต่าง เช่น iplus, seagle, zrollfarm รวมทั้งคัดเลือกตัวแทนกระจายสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมมากขึ้น

    ปัจจุบันเถ้าแก่น้อยถือเป็นผู้นำตลาดสาหร่ายในไทย และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอยู่ในอันดับ Top 3 ในเอเชีย TKN มีสัดส่วนยอดขายในประเทศ 45% ต่างประเทศ 55% ตั้งเป้าปี 2561 สัดส่วนยอดขายในประเทศ 40% และต่างประเทศ 60% และในปี 2567 จะก้าวขึ้นสู่ระดับโลก โดยมียอดขายในประเทศ 30% และต่างประเทศ 70%

    ทิศทางธุรกิจ TKN ยังสามารถเติบโตต่ออย่างเนื่อง และการที่หุ้น TKN ได้จัดเข้าอยู่ในการคำนวณดัชนี MSCI Global Small Cap ทำให้ TKN เนื้อหอมจนกองทุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา และฮ่องกง ซื้อผ่านกระดานรายใหญ่ (big lot) 25.0 ล้านหุ้น คิดเป็นจำนวนหุ้นสัดส่วน 1.8% ของทุนจดทะเบียนถือเป็นการเพิ่ม “ฟรีโฟลท” ในระดับที่เพียงพอ ปัจจุบัน “อิทธิพัทธ์” และครอบครัวยังคงถือหุ้นรวมทั้งสิ้น 63.4% ของทุนจดทะเบียน

หวังว่าทั้งหุ้นทั้ง 3 ตัวที่เลือกมานั้นคงเหมาะสมต่อ “หุ้นแห่งปี” ที่สุดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น