xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันปัญหา สาเหตุครัวทรุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โครงสร้างบ้านนั้น ได้ถูกออกแบบไว้สำหรับการใช้งานอยู่อาศัยปกติ แต่เมื่อทางเจ้าของบ้านต้องการที่จะต่อเติมส่วนใหม่โดยขยายออกนอกบริเวณเดิมของตัวบ้าน โครงสร้างบ้านดังกล่าวจะมีอัตราการทรุดตัวที่แตกต่างจากตัวบ้านเดิมอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับขนาดของฐานราก และเสาเข็มว่าสามารถรับน้ำหนักมาก-น้อยอย่างไร รวมถึงน้ำหนักวัสดุของส่วนต่อเติมที่เป็นภาระให้กับโครงสร้างส่วนต่อเติม จึงเป็นที่ทราบ และยอมรับกันว่า การทรุดตัวเป็นพฤติกรรมปกติของส่วนต่อเติม แต่ก็เป็นไปได้ที่การทรุดตัวดังกล่าวจะมีลักษณะการทรุดตัวที่เรียกว่า วิบัติทางโครงสร้าง เป็นลักษณะที่ทรุดเอียงไม่ได้ทรุดในลักษณะแนวดิ่งเฉลี่ยเท่ากัน ทรุดในลักษณะล้มเอียงแยกจากบ้าน และมีอัตราการทรุดเร็วกว่าปกติ ดังภาพ

ถึงแม้จะต่อเติมอย่างถูกวิธีแบบแยกโครงสร้าง สาเหตุของการทรุดดังกล่าวก็สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งมีหลายสาเหตุดังนี้

1.จำนวน ขนาด ความลึกของเสาเข็มไม่เพียงพอต่อการรับน้ำหนักโครงสร้าง วัสดุ และการใช้งานของอาคารส่วนต่อเติมลักษณะดังกล่าวจะมีอัตราการทรุดตัวที่เร็วกว่าปกติ ทำให้ส่วนรอยต่อของอาคารเสียหายกลายเป็นปัญหาตามมาอย่างรวดเร็ว

2.มีบางส่วนของโครงสร้างที่ต่อเติมไปอิงไว้กับตัวบ้านเดิม เช่น ผนัง ผิวคานคอดินที่รับพื้น ฐานรากที่ต่อเติมซ้อนอยู่บนฐานรากบ้านเดิม หรือไม่มีการคั่นโครงสร้างด้วยแผ่นโฟมโดยหล่อติดกัน ทำให้เกิดการผสานกันที่ผิวคอนกรีตใหม่ และเก่า มักจะทำให้เกิดการทรุดเอียง โดยบริเวณที่ประชิดกับตัวบ้านทรุดน้อยกว่าด้านริมนอกบ้าน เนื่องจากมีโครงสร้างของตัวบ้านช่วยผยุงไว้

3.มีการวางของหนักไว้ในด้านที่ทรุดเอียง โดยมากมักจะเป็นเคาน์เตอร์ที่หล่อเป็นคอนกรีต วางในด้านที่ประชิดกับรั้วบ้าน อาจเป็นสาเหตุให้การรับน้ำหนักของโครงสร้างส่วนต่อเติมไม่สมดุลกันเกิดการทรุดเอียงได้เช่นกัน

4.สภาพของดิน และการทำงานก่อสร้างเสาเข็ม-ฐานรากที่ไม่เท่ากันอาจส่งผลให้การรับน้ำหนักของแต่ละฐานรากรับแรงได้ไม่เท่ากัน เช่น อยู่ในสภาพดินนุ่ม หน้าดินทรุด ความลึกของเสาเข็มสั้นไม่เท่ากัน เป็นต้น ดังภาพ

สาเหตุของการทรุดตัวข้างต้น อาจมีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมมากระตุ้น อย่างที่เห็นชัดเจน เช่น ภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ส่งผลให้ดินทรุดตัวบ้าง หรือโครงสร้างที่แช่น้ำนานๆ เสื่อมสภาพบ้าง การแก้ไขซ่อมแซมลักษณะการทรุดปกติที่ระดับพื้นของโครงสร้าง และทรุดลงระนาบเดียวกันไม่เอียงไปทางหนึ่งทางใด ควรพิจารณาว่าระดับการทรุดตัว และอัตราการทรุดตัวมีมาก หรือถือเป็นการทรุดปกติหากทรุดอยู่ที่ไม่เกิน 3-5 เซนติเมตร ถือว่าเป็นปกติควรซ่อมแซมรอยแตกร้าวที่ผนังตกแต่งให้ได้เส้นแนวห่างประมาณ 1-2 เซนติเมตร อุดด้วยวัสดุอุดยืดหยุ่น หรือตีปิดด้วยแผ่นโลหะ หรือไม้ประกอบ โดยไม่ยึดเชื่อมพร้อมกันสองด้านให้ยึดที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งเท่านั้น

แต่หากโครงสร้างทั้งบ้าน หรือส่วนต่อเติมมีลักษณะการทรุดเอียงไปด้านหนึ่งด้านใด ตามข้อมูลข้างต้นจำเป็นที่จะต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างเข้าตรวจสอบถึงสาเหตุที่ทำให้โครงสร้างวิบัติ คือ เอียงไปทางหนึ่งทางใด มีการทรุดตัวรวดเร็ว และมากจนผิดปกติ เป็นต้น จากนั้น ทางผู้เชี่ยวชาญจะพิจารณา และเสนอแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม และถูกหลักวิศวกรรมโครงสร้างให้กับทางเจ้าของบ้าน โดยมีทั้งหน่วยงานเอกชน และหน่วยงานอาสาที่ให้บริการด้านโครงสร้างของเจ้าของบ้านดังนี้

1.หน่วยงานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูประถัมภ์ (คลีนิกช่าง) ติดต่อ 487 ซอยรามคำแหง 39 (เทพลีลา 1) ถนนรามคำแหง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม. 10310 โทร 0-2319-2410-3 โทรสาร 0-2319-2710-11 E-mail : eit@eit.or.th

2.รูปแบบบริษัทเอกชนที่รับบริการซ่อมโครงสร้างโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่หากพิจารณาซ่อมแซมมักจะเป็นการซ่อมแซม เสริมความแข็งแรงงานโครงสร้างใต้ดินบริเวณที่สูญเสียความแข็งแรงในการรับน้ำหนัก เช่น การเพิ่มการรับน้ำหนักโครงสร้างบริเวณที่สูญเสียกำลังด้วยระบบเข็มไมโครไพล์ เป็นลักษณะการซ่อมแซมโครงสร้างในพื้นที่จำกัด ด้วยการใช้เข็มเหล็กท่อเล็กๆ ต่อเป็นท่อแล้วอัดฉีดคอนกรีตพิเศษแทนที่ดินด้วยไฮโดรลิก หรือจะเป็นการสร้างฐานรากทดทนใหม่บริเวณที่เสียหาย ล้วนขึ้นอยู่กับการพิจารณาของวิศวกร พร้อมเสนอราคาค่าซ่อมแซมเจ้าของบ้าน

สาเหตุต่างๆ ของการทรุดตัวที่กล่าวไปแล้ว อาจมีปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมมากระตุ้นด้วย อย่างที่เห็นชัดเจน เช่น ภัยน้ำท่วมที่ผ่านมา ส่งผลให้ดินทรุดตัวบ้าง หรือโครงสร้างที่แช่น้ำนานๆ เสื่อมสภาพบ้าง เป็นต้น ดังนั้น ในการซ่อมแซมแก้ไข ควรต้องคำนึงถึงผลในระยะยาวด้วย หากบ้านเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม บ้านอยู่ริมน้ำ หรือบ้านที่ดินมีลักษณะเหลว อ่อนตัว ควรหาวิธีป้องกันแต่เนิ่นๆ

ทั้งนี้ วิธีการซ่อมแซม และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของความเสียหายที่เกิดขึ้น และพื้นที่หน้างาน ดังนั้น ทางเจ้าของบ้านจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า คุ้มค่า หรือไม่ กับส่วนที่จะซ่อมแซมทางโครงสร้าง เมื่อเทียบกับการรื้อทำใหม่ โดยเฉพาะส่วนต่อเติมที่ก่อสร้างโดยผิดมาตรฐาน

......ขอบคุณข้อมูลจาก SCG Experience Architect


กำลังโหลดความคิดเห็น