xs
xsm
sm
md
lg

เปิด Vision CEO TTA ปี 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ดำเนินธุรกิจเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้นเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (strategic investment holding company) บริษัทมีธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนส่ง กลุ่มธุรกิจพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน
เฉลิมชัย มหากิจศิริ
ทีมเศรษฐกิจผู้จัดการรายวัน 360 ได้รับเกียรติจาก “เฉลิมชัย มหากิจศิริ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA เปิดมุมมองเศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากแรงขับเคลื่อน Mega Projects ของภาครัฐเป็นกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่น และเริ่มลงทุนตามไปด้วย อย่างเช่นโครงการรถไฟฟ้าในเขตเมืองหรือ Motorway ที่เริ่มก่อสร้างในปี 2560 เป็นต้น จะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และช่วยหนุนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในประเทศ และต่างประเทศให้กลับมาลงทุนมากขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจโลก CEO TTA เชื่อว่ากำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลายประเทศจะมีการเลือกตั้ง ซึ่งนโยบายของแต่ละประเทศอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งต้องรอดูสถานการณ์ ท่ามกลางภาวะเช่นนี้ TTA วางกลยุทธ์ปี 2560 3 ด้าน คือ

1.สร้างความแข็งแกร่งมั่นคงให้แก่ธุรกิจหลักเพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้

2.เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในทุกๆ ส่วน

3.ลดต้นทุนการดำเนินการ และควบคุมค่าใช้จ่าย

“เฉลิมชัย” ยอมรับว่าปี 2560 ธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกอง ต้องเผชิญต่อความท้าทายอย่างมากอีกปีหนึ่ง ทางบริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง สามารถยืดหยัดอยู่ได้เนื่องจาก 1) มีความเชี่ยวชาญในการบริหารกองเรือให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อทำให้อัตราค่าระวางเรือเฉลี่ยของโทรีเซน ชิปปิ้ง สูงกว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในขณะที่บริษัทเจ้าของเรือรายอื่นๆ อีกหลายรายประสบปัญหาต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่าอัตราค่าระวางเรือที่ทำได้
2) ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพของกองเรือโดยการขายเรือบางลำที่มีอายุมาก และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงออกไป และอาจพิจารณาทดแทนด้วยเรือที่ใหม่กว่าซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพ และลดอายุของกองเรือและค่าใช้จ่ายให้น้อยลง และ 3) เน้นบริการขนส่งสินค้าเทกองในเส้นทางการค้ายุทธศาสตร์ที่จะให้ผลกำไรดี

“เนื่องจากการค้าทั่วโลกพึ่งพาการขนส่งทางทะเลเป็นหลักราว 90% ของปริมาณขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทั้งหมด เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจที่โลก จึงส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเลเป็นวงกว้าง ทำให้ความต้องการขนส่งสินค้าหดตัว ในขณะที่ปริมาณเรือมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงกดดันดัชนี Baltic Dry Index (BDI) ที่สะท้อนถึงอัตราค่าระวางของเรือเทกอง ตกต่ำที่สุดในรอบ 30 ปี ในช่วงต้นปี 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดการนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ถ่านหิน แร่เหล็กในตลาดใหญ่ เช่น ประเทศจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปี 2559 ภาพรวมธุรกิจขนส่งสินค้าแห้งเทกองทั้งปี คาดว่ายังคงมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประมาณ 2%

สำหรับปี 2560 หากสภาวะตลาดเรือแห้งเทกองยังคงอยู่ หรือมีแนวโน้มที่ดีกว่าในระดับปัจจุบัน จากปัจจัยภายนอกต่างๆ ทั้งการคาดการณ์ว่าความต้องการของการขนส่งสินค้าจะเพิ่มสูงขึ้น และจำนวนเรือให้ท้องตลาดที่มีอัตราการตัดเป็นเศษซากที่สูงขึ้น น่าจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของ TTA ที่ดีขึ้น

ในปี 2560 TTA ยังมีแผนที่จะขายเรือเก่า จำนวน 3-4 ลำ แล้วจะมีการซื้อเรือใหม่เพื่อทดแทนเรือเก่าประมาณ 3-5 ลำ เพื่อรักษาจำนวนกองเรือให้อยู่ในระดับปัจจุบัน ซึ่งมีเรือที่ TTA เป็นเจ้าของอยู่ประมาณ 20 ลำ

ผู้บริหาร TTA ระบุถึงฐานะการเงินของบริษัท ว่า ปัจจุบัน มีกระแสเงินสดอยู่ราว 12,000-13,000 ล้านบาท ซึ่งกระแสเงินสดในส่วนนี้ส่วนหนึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจหลัก และมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติม โดยปัจจุบัน TTA อยู่ระหว่างการศึกษาซื้อกิจการธุรกิจขนส่ง คอนซูเมอร์ โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีหน้า ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการเอง หรือเข้าซื้อกิจการ หรือการร่วมลงทุน คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้าเช่นกัน

ธุรกิจให้บริการวิศวกรรมใต้ทะเล โดย บริษัท เมอร์เมด มาริไทม์ จำกัด ซึ่งให้บริการงานวิศวกรรมใต้ทะเลและบริการเรือขุดเจาะแก่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของโลก จะใช้นโยบายรักษาฐานกลุ่มลูกค้าเดิมไว้ ควบคู่กับนโยบายการลดต้นทุนการดำเนินการ

ธุรกิจปุ๋ยที่เวียดนาม โดย บริษัท พีเอม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PMTA เป็นธุรกิจที่ยังคงทำกำไรให้แก่ TTA อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประเทศเวียดนามจะประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณการขายในประเทศลดลงเล็กน้อย แต่ทาง PMTA ก็สามารถเพิ่มยอดส่งออกได้สูงขึ้น และสร้างผลกำไรที่ดี ซึ่ง PMTA ยังคงเน้นการเพิ่มยอดขายทั้งในประเทศเวียดนาม และเพิ่มการส่งออกในประเทศที่มีแนวโน้มการเติบโตดี เช่น ประเทศแถบแอฟริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ธุรกิจถ่านหิน โดย บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) ได้ทำการปรับโครงสร้างทางการเงิน และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย พร้อมๆ กับการขยายการให้บริการด้านลอจิสติกส์มากขึ้น ทำให้หนี้สินลดลง และเริ่มมีกำไร UMS กำลังอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีการปรับโครงสร้างการทำธุรกิจทั้งด้านการเพิ่มรายได้และการลดต้นทุน ซึ่งจะเห็นผลอย่างเป็นนัยสำคัญในไตรมาส 4/2559 โดยบริษัทฯ จะเริ่มกลับมานำเข้าถ่านหินคุณภาพสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ซึ่งผลการดำเนินงานทั้งปีน่าจะดีกว่าปีที่แล้ว

“ภาพรวมมีการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นเพิ่มขึ้น และ UMS ก็ปรับตัวให้สอดคล้องต่อปริมาณบริโภคที่มากขึ้นหลังจากมีการปรับโครงสร้างภายในตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ด้านราคาถ่านหินก็ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ถ่านค่าความร้อน GAR4200 ก็ปรับราคาจาก 26 usd ต่อตัน เป็น  45  usd โดยประมาณ”

ธุรกิจให้เช่าพื้นที่โรงงานของบาคองโค ที่ประเทศเวียดนาม ก็เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากลูกค้าที่ต้องการเช่าพี้นที่ที่มีคุณภาพมาตรฐานสากลเพื่อเก็บสินค้ามีอัตราการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ สิ้นปี 2559 บาคองโคมีพื้นที่ให้เช่าเพื่อเก็บสินค้ารวมทั้งหมด 50,500 ตารางเมตร ซี่งได้ถูกเช่าเต็มพื้นที่ 100% แล้ว กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ เช่น OI-BJC, Cargill และ CP Group จึงสะท้อนถึงความต้องการเช่าพื้นที่โรงงานเพื่อเก็บสินค้าที่ยังมีมากกว่าพื้นที่ที่เปิดให้บริการ ดังนั้น บาคองโค จึงมีแผนที่จะเปิดพื้นที่ให้เช่าเพื่อเก็บสินค้าเพิ่มขึ้นอีก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปถึงปี 2560

สำหรับแผนการไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ “เฉลิมชัย” ยืนยันว่า TTA จะยังคงเดินหาหาโอกาสที่ดีในการขยายสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มทีดี ในปี 2559 TTA ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ชื่อ ทีทีเอ สุเอซ จำกัด โดยบริษัทใหม่นี้จะทำธุรกิจให้บริการด้านการบำบัดน้ำเสียและการบริหารจัดการน้ำดื่มให้แก่ภาครัฐ และภาคเอกชนในประเทศไทย นอกจากนี้ เรายังสนใจธุรกิจกลุ่ม Startups ทีมีอนาคตดีอีกด้วย


“จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์” นักวิเคราะห์กลยุทธ์พื้นฐาน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง แนะนํา “ซื้อ” โดยราคาเหมาะสมยังคงอิง P/BV 1.0 เท่า ที่ 12.60 บาทต่อหุ้นจากทิศทางพัฒนาการต่างๆ กําลังเดินไปในเชิงบวก ขณะเดียวกัน ในภาพของการเก็งกําไรไปกับ BDI นั้น TTA ก็ดูจะมีความเสี่ยงต่ำกว่า จากการมีสถานะมีกําไรเร็วกว่า และมีเงินสดในมือพร้อมลงทุนสูงถึง 6.79 บาทต่อหุ้น

ธุรกิจเดินเรือ - ยังให้ผลขาดทุน 223 ล้านบาท มายัง TTA เนื่องจากระดับค่าระวางที่ทําได้ 5,473 เหรียญต่อลําวัน ยังคงต่ำกว่าจุดคุ้มทุนที่ 7,145 เหรียญต่อลําต่อวัน หรือ 23% แต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากค่าระวางนี้สามารถฟื้นตัวต่อเนื่อง 8% QoQ

ธุรกิจพลังงาน - Mermaid ส่งกําไรเข้ามาให้ 152 ล้านบาท ทรงตัวจากไตรมาสก่อน แต่ทว่า ลดลงจากปี ก่อน 55% YoY เนื่องจาก ส่วนแบ่งกําไรจากเรือขุดน้ำมันของ AOD ลดลง 73% เนื่องจากลูกค้าได้ขอเจรจาลดค่าจ้างลงมา ภายหลังราคาน้ำมันดิบอ่อนตัวลงมาต่ำ 40-50 เหรียญ อย่างไรก็ดี อัตรากําไรขั้นต้นยืนได้ดี 32% เนื่องจากงาน Cable laying ซึงให้มาร์จิ้นต่ำทยอยหมดไป

ธุรกิจสาธารณูปโภค - UMS ส่งขาดทุนเข้ามาเพียง 7 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่องจาก 10 ล้านบาทใน 2Q59 เนื่องจากผลของการปรับโครงสร้างต้นทุนก่อนหน้า ขณะที่ยอดขายถ่านเพิ่มขึ้น 38% QoQ เป็ น 47,000 ตัน ส่วน PMTA ก็ส่งผลกําไรเข้ ามา 52 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% QoQ และ 61% YoY ผลักดันจากต้นทุนที่เกี่ยวเนื่องด้านปิ โตรเคมี (ตามราคาน้ำมันดิบ) ลดลง ทําให้อัตรากําไรขั้นต้นทําได้สูงถึง 29.9% จาก 25% ใน 2Q59 และ 23.1% ใน 3Q58

แนวโน้มผลการดําเนินงาน 4Q59 : ด้วยระดับ BDI ที่ฟื้นต่อเนื่อง เรามองว่าจะทําให้กลุ่มธุรกิจเรือเทกองเข้าใกล้จุดคุ้มทุนได้ราวๆ ที่ BDI 1,200 จุด ซึ่งจะเป็นจุดที่ทําให้ทั้ง 3 ธุรกิจหลักมีกําไรพร้อมกัน ดังนั้น ทิศทางผลกําไรคาดจะยังคงขยายตัว QoQ และ YoY


กำลังโหลดความคิดเห็น