สยามแก๊สฯ ประเมินแนวโน้มผลงานไตรมาส 4 ปีนี้คาดปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ผลมาจากแนวโน้มคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) จากลูกค้าในต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง ผู้บริหารมั่นใจผลประกอบการปี 2559 โตตามเป้า 3 ล้านบาท หรือ 5% แม้ไตรมาส 3 ขาดทุนเหตุจากการแข่งขันสูงจากจีน และจากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่ำกว่าปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน
นางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP เปิดเผยถึงแนวโน้มผลงานในไตรมาส 4 ปีนี้บริษัทประเมินว่า น่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ผลมาจากราคาขายก๊าซ LPG ขยับเพิ่มขึ้น ประกอบกับแนวโน้มคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทศเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลงานปี 59 ที่บริษัทฯ ประเมินยอดขายจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ราว 3 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนราว 2.6 ล้านตัน เป็นผลมาจากแนวโน้มคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ LPG ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศจีนที่คาดว่า ปีนี้ยอดยอดขายการส่งออกไปยังประเทศจีนราว 9.5 แสนตัน
สำหรับผลประกอบการงวดไตรมาส 3 นั้น บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 74 ล้านบาท จากงวดเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 30.6 ล้านบาท มีรายได้รวม 10,168.82 ล้านบาท ลดลง 27.57% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้ 14,039 ล้านบาท เนื่องจากราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกปรับตัวลดลงต่ำกว่าปีก่อน โดยราคาก๊าซ LPG ของตลาดโลกไตรมาส 3/59 เฉลี่ยอยู่ที่ 300 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน เทียบกับงวดเดียวกันของปี 58 อยู่ที่ 374 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน
ขณะงวด 9 เดือนแรกของปี 59 มีกำไรสุทธิ 219.81 ล้านบาท ลดลง 49.35% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 433.97 ล้านบาท และมีรายได้รวม 34,197.95 ล้านบาท ลดลง 17.79% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้ 41,598 ล้านบาท ผลจากธุรกิจจำหน่ายก๊าซลดลง โดยราคาก๊าซ LPG ในงวด 9 เดือนแรกของปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ 323 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน ลดลงเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปี 58 เฉลี่ยอยู่ที่ 430 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน
นางจิณตนา กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจปี 2560 ตั้งเป้าหมายจะมีปริมาณขายต่างประเทศ และในประเทศสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า และมียอดขายเติบโตประมาณ 5% โดยบริษัทศึกษาการเข้าลงทุนตามโมเดลธุรกิจของ SGP ในประเทศเมียนมา ที่จะประกอบด้วย คลัง LPG, โรงบรรจุ LPG และท่าเรือ เพื่อรองรับการทำธุรกิจ โดยจะใช้แบรนด์ของ “สยามแก๊ส” เข้าไปดำเนินการเอง