สำนักทรัพย์สินฯ ลุยปรับใหญ่พื้นที่-กลุ่มอาคารอนุรักษ์ ท่าช้าง ท่าเตียน สวนนาคราภิรมย์ พร้อมเผยแผน 10 ปี ปรับปรุงบูรณะกลุ่มอาคารในความดูแล 5-6 พื้นที่เขตพระนคร แจงพื้นที่ต่อไปหลังปรับปรุงตลาดท่าเตียนเสร็จปี 61 “ท่าพระจันทร์” ล่าสุด ร่วมหารือวัดมหาธาตุ และ กทม.เจ้าของพื้นที่ร่วมแล้ว
นางอรุนุช อิ่มอารมณ์ หัวหน้าฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารงานอนุรักษ์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพย์สินฯ ได้จัดทำโครงการแผนการปรับปรุงฟื้นฟูอาคารกลุ่มอาคารอนุรักษ์รอบพระบรมมหาราชวัง เพื่อปรับปรุงฟื้นฟูพื้นที่ และส่งเสริมภูมิทัศน์ในบริเวณรอบพระบรมมหาราชวัง โดยได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2550 ประกอบด้วยพื้นที่ กลุ่มอาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน กลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าช้าง อาคารที่พักอาศัยกองทัพบกที่ได้รับการส่งคืน และพื้นที่บริเวณสวนนาคราภิรมย์ และกลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าเตียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการปรับปรุง
อย่างไรก็ตาม ตามแผนการปรับปรุงฟื้นฟูกลุ่มอาคารอนุรักษ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ 10 ปี ของสำนักงานทรัพย์สินฯ นั้น นอกจากกลุ่มอาคารในพื้นที่ข้างต้นแล้ว ยังมีแผนจะเข้าไปปรับปรุงกลุ่มอาคารอนุรักษ์ ซึ่งเป็นตึกแถวในพื้นที่ ท่าพระจันทร์ กลุ่มอาคารอนุรักษ์ ในพื้นที่ตลาดบ้านหม้อ กลุ่มอาคารอนุรักษ์ซอยสระสรง ลงท่า ซึ่งอยู่ด้านหลังวัดสุทัศน์เทพวราราม กลุ่มอาอาคารอนุรักษ์เลียบคลองหลอด อาคารอนุรักษ์บ้านช่างคาด ตรงข้ามการประปาแม้นศรี อาคารอนุรักษ์ในแพร่งนรา และแพร่งภูธร กลุ่มอาคารอนุรักษ์เลียบถนนนางเลิ้ง ซึ่งส่วนใหญ่ตึกแถวสองชั้น โดยรูปแบบการเข้าไปปรับปรุงนั้น จะเน้นรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมเดิม ซึ่งสำนักงานทรัพย์สินฯ จะเป็นผู้ออกเงินในการปรับปรุง 75% และผู้เช่าจะออกเงิน 25% แล้วแต่กรณี แต่โดยมากจะยึดรูปแบบดังกล่าว
สำหรับพื้นที่กลุ่มอาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน กลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าช้าง อาคารที่พักอาศัยกองทัพบกที่ได้รับการส่งคืน และพื้นที่บริเวณสวนนาคราภิรมย์ และกลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าเตียน ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงในขณะนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ยึดแนวทางการแก้ไขปัญหาเป็น 4 ประประเด็นหลักๆ คือ 1.การส่งเสริมสภาพแวดล้อมโดยรอบสถานที่สำคัญ 2.มาตรฐานการอนุรักษ์ 3.การปรับปรุงคุณภาพชีวิตการอยู่อาศัย และ 4.ความเหมาะสมของขนาดพื้นที่
“กลุ่มอาคารที่ได้รับการพัฒนาไปแล้ว คือ กลุ่มอาคารอนุรักษ์หน้าพระลาน กลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าช้าง ส่วนพื้นที่ส่วนาคราภิรมย์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเป็นอาคารจอดรถใต้ดินขนาด 3 ชั้นครึ่ง ซึ่งสามารถจอดรถตู้หลังคาสูงได้ 700 คัน ด้านบนระดับผิวดินยังคงเป็นสวนสาธารณะ นอกจากนี้ จะมีการบูรณะอาคารคลังราชการ 5 เพื่อใช้เป็นพิพิธภัณฑ์โขนในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนารถ โดยจะใช้ระยะเวลา 24 เดือนในการก่อสร้าง และเสร็จสิ้นในปี 2561 และคาดว่าจะใช้งบก่อสร้าง และปรับปรุง 1,000 ล้านบาท”
นางอรุนุช กล่าวว่า ระยะต่อมาจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ตลาดท่าเตียน เนื่องจากมีความทรุดโทรมมาก ทั้งในเรื่องของสุขลักษณะ ที่กระทรวงสาธารณะสุขได้ยื่นหนังสือขอให้มีการปรับปรุงพื้นที่นานแล้ว และยังมีการเสี่ยงต่อการพังทลายของอาคารในพื้นที่ รวมถึงมองว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์ไม่สมพื้นที่ เนื่องจากถูกใช้เป็นโรงเก็บปลาร้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และยังเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
สำหรับพื้นที่ตลาดท่าเตียน ตามแผนการปรับปรุงจะยังคงให้เป็นพื้นที่ตลาด และคงสถาปัตยกรรมโรงตลาดชุดเดิมไว้ แต่จะยกระดับเป็นตลาดให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยการออกแบบให้มีฟังชั่นต่างๆ และปรับปรุงพื้นที่ภายในตลาดใหม่ ทั้งการจัดแผงค้าขาย การตกแต่ง การจัดงานระบบอาคาร ให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมเดิมในพื้นที่โดยรอบ โดยแผงเช่าจะออกเป็นห้องขนาด 3 คูณ 2 เมตร ใช้ประกอบการค้าขาย ไม่ให้อยู่อาศัย หรือเก็บสินค้า จำนวน 48-60 แผง และมีส่วนพื้นที่ทานอาหารเพิ่มเติมเข้ามา ส่วนอาคาร 22 คูหาจะมีการจัดระเบียบรูปแบบอาคารให้มีลักษณะใกล้เคียงกับแบบดั้งเดิมสมัยแรกสร้าง ส่วนที่ผู้เช่ามีการต่อเติมจะให้รื้อถอนออก คงเหลืออาคารเป็นโรงแถวไม้ความสูง 2 ชั้นเท่านั้น
ทั้งนี้ หลังจากปรับปรุงตลาดท่าเตียนแล้วเสร็จในปี 61 กลุ่มอาคารอนุรักษ์ในพื้นที่ที่จะมีการปรับปรุงในระยะต่อไปตามแผน 10 ปี คือ กลุ่มอาคารอนุรักษ์ท่าพระจันทร์ แต่อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องหารือร่วมกับเจ้าของพื้นที่ คือ วัดมหาธาตุ และ กทม. เนื่องจากพื้นที่ท่าพระจันทร์ทั้งหมดไม่ได้เป็นของสำนักงานทรัพย์สินฯ ดังนั้น จึงต้องมีการหารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงให้อาคารต่างๆ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเดียวกัน โดยขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับ กทม. และวัดมหาธาตุ โดยให้กลุ่ม นศ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำหน้าที่ออกแบบ
“การปรับปรุงพื้นที่ และอาคารต่างๆ ในพื้นที่รอบพระบรมหาราชวังนั้น หากมองในแง่ของการลงทุน และการคุ้มทุนแล้ว ต้องใช้ระยะเวลานานกว่า 40 ปีขึ้นไป แต่สำนักทรัพย์สินฯ ไม่ได้มองความคุ้มค่าจากค่าเช่า หรือรายได้ เนื่องจากค่าเช่าอยู่ในระดับต่ำมาก แต่มองในแง่ของการเพิ่มมูลค่าด้านการท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ซึ่งจะได้รับจากการท่องเที่ยว ในอนาคตจะให้ผลตอบแทนต่อประเทศอย่างมหาศาล”