ผู้ว่าการ ธปท.เกาะติด ศก.ไทยปลายปี ก่อนประเมินภาพรวม เบื้องต้นยังเชื่อ GDP ปีนี้ถึงปีหน้าโตต่อเนื่อง 3.2% ระบุมาตรการกระตุ้น ศก.ปลายปีถือเป็นการตื่นตัวที่ดีของรัฐบาล ช่วยรักษาโมเมนตัม รักษาแนวโน้มการฟื้นตัวของ ศก.ไทยในช่วงรอยต่อก่อนที่โครงการลงทุนใหญ่ๆ ของภาครัฐจะเริ่มเห็นผล
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.จะรอดูภาวะเศรษฐกิจปลายปีนี้อีกครั้งก่อนจะมีการประเมินภาพรวมในปีนี้ และปีหน้า เนื่องจากมองว่ามีหลายปัจจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่อาจจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย แต่ขณะนี้ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ราว 3.2% และในปี 60 ก็น่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ 3.2% เช่นกัน
ทั้งนี้ ภายหลังจากที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ธปท.ก็ได้เตือนมาโดยตลอดถึงเรื่องความผันผวนของตลาดเงินตราต่างประเทศ รวมถึงตลาดทุน เพราะก่อนหน้านั้นมีสภาพคล่องไหลเข้ามาในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งในอาเซียน และไทย เมื่อเริ่มเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเข้มข้นที่อาจทำให้สหรัฐฯ ต้องมีการกู้เงินเพื่อมาชดเชยการขาดดุลการคลังมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในสหรัฐฯ และตลาดเงินโลกปรับสูงขึ้น ดังนั้น จึงส่งผลให้มีเงินทุนไหลกลับไปในตลาดสหรัฐฯ เพื่อไปหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ ตลาดยังคาดหวังว่า จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อีกรอบในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งมีความน่าจะเป็นมากขึ้น จึงทำให้มีเงินทุนบางส่วนไหลออกไป
“เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง บางครั้งอาจมีเหตุการณ์ หรือข่าวใหม่ๆ รายวันที่อาจทำให้ค่าเงินผันผวน ดังนั้น การบริหารจัดการความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญของใครก็ตามที่มีธุรกรรมด้านต่างประเทศ”
พร้อมกันนี้ยังระบุว่า ผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกนำเข้าต้องมีทักษะที่ดีในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากับไทยต่างต้องเผชิญกับภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนมากว่าไทย นอกจากนี้ ในช่วงหลังจะมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ปัจจัยจากภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งแม้ไม่ได้เป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่สามารถจะมองข้ามไปได้ เนื่องจากปัจจัยนี้จะมีผลให้ราคาสินทรัพย์ และอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนได้สูงขึ้น
นายวิรไท กล่าวว่า ในช่วงสั้นๆ นี้ค่าเงินบาทอาจจะผันผวน แต่ยังน้อยกว่าหลายประเทศ เพราะมีปัจจัยต่างประเทศ รวมทั้งปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศเอง เช่น ปัญหาการเมืองในประเทศนั้นๆ หรือบางประเทศเองมีความจำเป็นที่ต้องพึ่งเงินจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เมื่อมีภาวะเงินทุนไหลกลับจึงทำให้ได้รับผลกระทบแรงกว่าไทย
“แต่ในกรณีของไทย เรามีกันชนที่ค่อนข้างดี สามารถรองรับความผันผวนต่างๆ ได้ นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ผันผวนเหมือนค่าเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หลายประเทศ”
สำหรับปัจจัยในประเทศที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ชะลอตัวลง เช่น ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากในช่วงฤดูการผลิตปลายปี เช่น ข้าว ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยได้รับผลกระทบกันหลายประเทศไม่เฉพาะไทย นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจัดระเบียบนักท่องเที่ยว หรือการแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนเริ่มลดลงไปบ้าง ประกอบกับเรื่องสุดท้ายมาจากสถานการณ์ความโศกเศร้าในประเทศเองด้วย แต่อย่างไรก็ดี ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น
นายวิรไท กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลจะนำมาออกกระตุ้นเศรษฐกิจในปลายปีนั้น เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4 จะเห็นว่ากิจกรรมบางส่วนได้รับผลจากหลายเหตุการณ์ ดังนั้น รัฐบาลจึงมองเห็นถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่จะปล่อยให้เศรษฐกิจชะลอตัว จึงได้ออกมาตรการมากระตุ้นการบริโภคในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการชั่วคราวที่จะช่วยทำให้เม็ดเงินเข้ามาหมุนในระบบเศรษฐกิจได้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ รัฐบาลถือว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยประคับประคองให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกมาตรการเบิกจ่ายงบลงทุนขนาดเล็ก, โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่จะเริ่มเห็นชัดเจนในปีหน้า สิ่งเหล่านี้เป็นความตั้งใจของรัฐบาลในการลงทุนเพื่อจะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าในระยะสั้นที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงจากปัจจัยชั่วคราว จึงมีมาตรการชั่วคราวเข้ามาเสริมเพื่อประคองให้เศรษฐกิจโตต่อไปได้
“ถือเป็นการตื่นตัวที่ดีของรัฐบาล ช่วยรักษาโมเมนตัม รักษาแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงรอยต่อก่อนที่โครงการลงทุนใหญ่ๆ ของภาครัฐจะเริ่มเห็นผล แต่มาตรการเหล่านี้คงต้องเป็นมาตรการชั่วคราวเท่านั้น เพราะถ้าทำไปนานๆ จะไม่เกิดผลทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการดึงอุปสงค์ในอนาคตมาใช้”