เปิดรายงานประชุม กนง. ครั้งที่ 7 ระบุนโยบายการเงินยังควรผ่อนปรนในระยะต่อไป หลังพบว่า ศก.ไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนเพิ่มจากทั้งใน และต่างประเทศ และประเมินว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 7/59 ที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 9 พ.ย.59 ที่ผ่านมาว่า กนง.เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมครั้งนี้ แต่ในระยะต่อไปนโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง โดยพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อดูแลให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
กนง. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้นจากความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลต่อการส่งออกสินค้าของไทย และจากปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบของการจัดระเบียบทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งอาจทาให้จานวนนักท่องเที่ยวจีนน้อยกว่าประมาณการเดิม
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค.59 ชะลอลงเล็กน้อยตามราคาอาหารสด
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังทรงตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับที่ได้คาดการณ์เอาไว้ กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ และมีความเสี่ยงที่จะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิม โดยขึ้นอยู่กับราคาอาหารสด และพัฒนาการของราคาน้ามันในตลาดโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่โดยรวมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีทิศทางทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ
ด้านเสถียรภาพการเงินโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถรองรับปัจจัยลบ และความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงในบางจุด อาทิ คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลงทั้งในสินเชื่อธุรกิจโดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และสินเชื่อครัวเรือน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) โดยเฉพาะในกลุ่มตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (unrated bonds) ซึ่งหากผู้ลงทุนขาดความเข้าใจถึงความเสี่ยงจากการลงทุนอย่างเหมาะสม อาจนาไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินไป และเป็นการสะสมความเปราะบางทางการเงินในระยะข้างหน้า
ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ สะท้อนจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา เงินบาทโน้มแข็งค่าขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่ง กนง.เห็นว่า อาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
กนง. กล่าวต่อว่า การรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้สามารถกระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า และความต่อเนื่องของแรงส่งของเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ จึงควรรักษา policy space ไว้รองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นรุนแรงในอนาคต นอกจากนี้ แม้เสถียรภาพการเงินยังอยู่ในที่เกณฑ์ดี แต่ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในบางจุดต่อไปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อ และพฤติกรรม search for yield ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นเวลานาน
กนง. ยังประเมินว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า เนื่องจากความไม่แน่นอนในต่างประเทศ โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ รวมทั้งจังหวะ หรือมาตรการที่ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักอาจใช้ในการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม
นอกจากนี้ กนง.มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดการเงินโลกที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งอาจไม่สะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริง (underpricing of risks) และมีความเสี่ยงที่อาจดีดตัวกลับอย่างรวดเร็ว (yield snapback) หากพัฒนาการความเสี่ยงต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องมายังอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยได้ด้วย