xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ประเมิน Q4 จีดีพีชะลอ-ฐานสูง-จับตาส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แบงก์ประเมินไตรมาส 4 จีดีพีอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากฐานปีก่อนที่สูง ขณะที่ EIC SCB ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปีนี้เป็นโต 3.2% จากเดิม 3% หลังตัวเลขทางเศรษฐกิจขยายตัวดีกว่าคาด แต่มีความเสี่ยงที่จะชะลอลงในไตรมาส 4 เหตุจากฐานที่สูง-ท่องเที่ยวรับผลทัวร์ศูนย์เหรียญ ขณะที่ HSBC ระบุจีดีพีไตรมาส 3 ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้เล็กน้อย แบงก์ชาติคงดอกเบี้ยไปอีกระยะ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ขยายตัวได้ 3.2% YoY ชะลอลงจาก 3.5% YoY ในไตรมาสที่ 2 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอลงทั้งการบริโภค และการลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับฐานเงินเดือนข้าราชการในปีก่อน ขณะที่การส่งออกกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอีกครั้ง จากการส่งออกสินค้าที่เริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยท่ามกลางรายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตได้ดี เมื่อมองไปข้างหน้า

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 คาดว่า จะยังคงรักษาโมเมนตัมการเติบโตเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาสไว้ได้ต่อเนื่อง แต่อัตราการขยายตัวของจีดีพีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อาจชะลอลงมาที่ 3.2% YoY เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่สูง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ในช่วงปีก่อนมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการเร่งซื้อรถยนต์ก่อนการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2559 ไว้ที่ร้อยละ 3.3

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2560 นั้น ยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง และประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2559 โดยการใช้จ่ายของภาครัฐ และการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก ท่ามกลางความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทิศทางการค้า และการลงทุนของโลกจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน

SCBปรับเพิ่มจีดีพีโต3.2%

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB)ได้ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2559 เป็น 3.2% จากเดิมที่ 3.0% เนื่องจากมีปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยโตได้เหนือความคาดหมายในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยอดขายรถ การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยว แต่ก็มีปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะอ่อนแรงลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เนื่องจากมีปัจจัยกดดันสำคัญที่รออยู่ ได้แก่ ปัจจัยฐานสูงจากปีก่อนหน้าของทั้งยอดขายรถ และการใช้จ่ายภาครัฐ รวมถึงแรงกดดันต่อภาคการท่องเที่ยวจากการจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญ และบรรยากาศการบริโภคในประเทศที่ซบเซาลง โดยอีไอซี มองว่า ในไตรมาสสุดท้ายของปีมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตช้าที่สุดในรอบปี ทำให้การขยายตัวทั้งปี 2559 ของ GDP ไทยอยู่ที่ 3.2%

นอกจากนี้ ยังต้องจับตาการส่งออกที่กำลังจะกลับมาเติบโต แม้ว่าการส่งออกสินค้าในไตรมาส 3 จะยังคงขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย แต่เราเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นจากการขยายตัว 2 เดือนติดต่อกัน (ส.ค.-ก.ย.) ในช่วงที่ผ่านมา อีกทั้งยังเป็นการเติบโตที่ครอบคลุมในหลายหมวดสินค้าสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวที่มีนัยสำคัญ และเป็นสัญญาณบวกต่อการเติบโตในระยะต่อไป การเข้ามาส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาคการส่งออกในช่วงต่อจากนี้จะสอดรับกับแรงขับเคลื่อนอื่นๆ ที่เริ่มชะลอลง และยังมีปัจจัยกดดันค่อนข้างมากในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ อีไอซี มองว่า การเติบโตที่มีแรงส่งจากภาคการส่งออกนั้น น่าจะเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุน ซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมมีความต่อเนื่องมากกว่าการหล่อเลี้ยงการเติบโตด้วยปัจจัยชั่วคราวอย่างในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกมีสิ่งที่ต้องจับตา คือ ความเสี่ยงภายนอกจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทั้งในยุโรป และสหรัฐฯ ที่เป็นไปในทิศทางของการต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการค้าระหว่างประเทศ

HSBC จีดีพี Q3 โตชะลอ-คาดคง ดบ.ต่อ

นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า การเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ 3.2% Y-O-Y ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อย แต่เหนือความคาดหวังของเอชเอสบีซี เมื่อปรับปัจจัยด้านฤดูกาลแล้ว จีดีพีขยายตัว 0.6% Q-o-Q sa ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าเล็กน้อย ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าและบริการส่งผลบวกต่อจีดีพีมากขึ้นในไตรมาสที่ 3 ช่วยชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างชะลอตัวลง การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐยังคงเป็นแรงหนุนที่สำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกับการลงทุนภาคเอกชนที่ทรงตัวแต่ไม่ค่อยขยายตัว

ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงอยู่ในระดับเดิมไปอีกระยะ เนื่องจากภาพรวมการเติบโตของเศรษฐกิจดูเหมือนจะมีความสม่ำเสมอมากขึ้น ขณะที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการโครงการต่างๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และการเติบโตของรายได้ของครัวเรือนที่อ่อนแอ
กำลังโหลดความคิดเห็น