ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจกิจและธุรกิจ แบงก์ไทยพาณิชย์ คาดการณ์ภาพรวมการท่องเที่ยวยังขยายตัวดี มั่นใจการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ กระทบแค่ระยะสั้น พร้อมแนะให้เร่งปรับโครงสร้างเพื่อผลักดันให้ไทยติดท็อปเทน
นายวิธาน เจริญผล ผู้อำนวยการคลัสเตอร์ธุรกิจบริการ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) กล่าวว่า ธนาคารประเมินภาพการท่องเที่ยวของไทยในข่วงไตรมาส 4 น่าจะยังเติบโตได้ดี โดยประเมินผลจากการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ จะทำให้นักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 500,000 คน และเป็นผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่ง EIC SCB คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ที่ 33.8 ล้านคน เพิ่มขึ้น 13% และปีหน้าที่ 37 ล้านคนเติบโต 10%
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวเริ่มมีบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น โดยในช่วง10 ปีที่ผ่านมา มามีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 13% ส่งผลให้ไทยเกือบติดอันดับ Top ten ที่มีนักท่องเที่ยวสูงจากอันดับที่ 18 เป็นอันดับที่ 11 มีสัดส่วนในจีดีพีไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับ 5-6% ของจีดีพีปี 2015 เป็น 11% ในปัจจุบัน
โดยหลักๆ มาจากนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากมีประชากรจำนวนมาก และมีรายได้สูงขึ้น ทำให้นิยมออกท่องเที่ยวมากขึ้นจากปัจจุบันที่มีสัดส่วนประมาณ 9% ของประชากรรวม แต่ขณะเดียวกัน เราก็ควรจะมองหานักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ ด้วยเพื่อให้การท่องเที่ยวสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง และชดเชยส่วนที่ขาดหายไปจากการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มนักท่องเที่ยว อาทิ จำนวนวันท่องเที่ยวเอเชียที่ต่ำกว่านักท่องเที่ยวยุโรป เป็นต้น ซึ่งกลุ่มประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ อินเดีย และอินโดนีเซีย ที่มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่สูง และมีจำนวนประชากรมาก
“เรื่องรายได้เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยว เมื่อมีรายได้เพิ่ม จึงเริ่มออกท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง จึงควรปรับตัวรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร หรือข้อจำกัดด้านศาสนา รวมถึงรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปจากใช้บริการกรุ๊ปทัวร์ เป็นการท่องเที่ยวเอง เป็นต้น”
นายวิธาน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เสนอแนะให้เพิ่มช่องทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวใน 3 ด้าน ได้แก่ การสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศที่ทำให้ไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อยืดระยะเวลาการท่องเที่ยว และการสร้างตลาดการท่องเที่ยวเชิงกีฬา เพื่อลดผลกระทบด้านฤดูกาล
พร้อมกันนั้น ภาครัฐ และเอกชนยังต้องร่วมกันพัฒนาด้านอุปทานของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ทั้งด้านบุคลากร การบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยว และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน