ดิฉันยังไม่ได้เขียนถึงหุ้นยักษ์ใหญ่ในวงการไอที “อาลีบาบา” ซึ่งตอนเสนอขายแก่ประชาชนครั้งแรกมีขนาดใหญ่ที่สุดถึง 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 875,000 ล้านบาท
เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา อาลีบาบา จัดมหกรรมวันค้าปลีกออนไลน์ และทำยอดขายผ่านเว็บไซต์ไปถึง 120,700 ล้านหยวน หรือประมาณ 621,600 ล้านบาท ในวันเดียว! โดยยอดขายนี้เพิ่มขึ้นถึง 32% จากปีที่แล้ว
ดิฉันสนใจจึงเข้าไปหาข้อมูลในบลูมเบิร์กต่อว่า เขาดึงดูดลูกค้าให้มาซื้อของมากมายอย่างนี้ได้อย่างไร ปรากฏว่า ใช้หลักการตลาดแบบจูงใจด้วยโปรโมชัน จากลูกค้าที่มียอดซื้อขาย หรือที่เรียกว่าแอ็กทีฟ 439 ล้านคนต่อปี เขาจะมีกลุ่มลูกค้าท็อป 100,000 คน ที่จะได้อยู่ในโปรแกรมพาสปอร์ต APASS คนที่คลั่งไคล้ในการซื้อของจำนวนมาก จึงซื้อทุกอย่างผ่านระบบของอาลีบาบา ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งอาหาร เพื่อให้ยอดซื้อสูง จะได้เข้าไปอยู่ในกลุ่มนี้
เขาจูงใจด้วยการให้บริการพิเศษแก่ลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยแต้มสะสม สินค้าพิเศษ กิจกรรมพิเศษ เช่น การพาไปทริปต่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งถูกใจชนชั้นกลางจีน ที่เมื่อมีรายได้มากขึ้นก็มองหาสินค้า และบริการที่ดีขึ้น พิเศษขึ้น
ผู้หญิงคนหนึ่งที่บลูมเบิร์กไปสัมภาษณ์ ซื้อของใน 1 ปี ผ่านอาลีบาบาถึงประมาณ 3.15 ล้านบาท ในวันที่จัดมหกรรมค้าปลีกเมื่อปีที่แล้ว เธอซื้อจนของกองอยู่ แทบไม่มีทางเดินเข้าอพาร์ตเมนต์ในเซี่ยงไฮ้ (คาดว่าอีกไม่นานสามีของเธอจะต้องออกมาอาละวาด)
อย่างนี้ถือว่าไม่ยึดหลักการเศรษฐกิจ“พอเพียง” แม้ว่าเธอจะมีอำนาจซื้อที่ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ได้กู้ยืมเงินมาซื้อ แต่ก็ไม่ควรซื้อมากจนเกินไปค่ะ
อาลีบาบา กรุ๊ป ก่อตั้งในเมืองหังโจว เมืองที่มีเก๊กฮวย และชาอร่อย เมื่อปี 2542 โดยแจ็ค หม่า และเพื่อนๆ รวม 18 คน หุ้นของบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมนที่ถือหุ้นอาลีบาบาในจีน (หรือที่เรียกกันว่า เชลล์คอมพานี) เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ในวันที่ 19 กันยายน 2557 ใช้ชื่อย่อว่า BABA
บริษัททำธุรกิจหลักๆ 2 ด้าน คือ อีคอมเมิร์ซ หรือธุรกิจค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดถึง 80% ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศจีน และด้านที่ 2 คือ ธุรกิจการเงินและการลงทุนในธุรกิจอื่น โดยถือหุ้น 37.5% ของกลุ่มการเงิน Ant Financial Service Group ซึ่งทำเรื่องระบบการชำระเงิน Alipay และมีบริษัทจัดการกองทุนชื่อ หยูเป่า (Yu’E Bao) ซึ่งบริหารกองทุนตลาดเงินที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ด้วย นอกจากนี้ ก็มีการลงทุนใน Weibo, Suning, Cainiao Network, YTO, Koubei และ Alibaba Pictures
ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลักๆ ของอาลีบาบา มี 2 ธุรกิจ คือ Taobao ซึ่งมีรายได้จากโฆษณา และ TMall ซึ่งมีรายได้จากพ่อค้าที่นำสินค้าไปโพสต์ขาย ซึ่งรายได้ของบริษัทไม่ได้มาจากยอดขายที่มีการทำการซื้อขายผ่านเว็บเป็นหลายแสนล้านบาทนะคะ แต่อยู่ที่ค่าโฆษณา และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากร้านค้า
หากดูจากแหล่งที่มาของรายได้ อาลีบาบา จะพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังอยู่ในจีนค่ะ โดยมีรายได้จากการค้าปลีกในจีน 70% (ภายใต้ชื่อ tmall.com, juhuasuan.com, cun.tao.com, taobao.com) จากการค้าส่งในจีน 4% (1688.com) ค้าปลีกในต่างประเทศ 4% (AliExpress, Lazada) ค้าส่งในต่างประเทศ 5% (alibaba.com) รายได้จากธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้ง ภายใต้ชื่อ Aliyun 4% จากสื่อดิจิทัลและบันเทิง 11% (UC Web, YOUKU, Alisports, Alibaba Music, Tmall TV) และจากนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ 2% เช่น AutoNavi, YUNOS เป็นต้น
“รายได้ของบริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป ในไตรมาสสิ้นสุด 30 กันยายน 2559 เท่ากับ 34,942 ล้านหยวน หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,075 ล้านหยวน หรือประมาณ 36,435 ล้านบาท และกำไรในรอบ 6 เดือน (เมษายน ถึงกันยายน) เท่ากับ 14,217 ล้านหยวน หรือประมาณ 73,215 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 5.91 หยวน”
หากกำไรต่อหุ้นทั้งปีเป็น 2 เท่าของรอบ 6 เดือน จะเท่ากับ 11.82 หยวน หรือประมาณ 1.72 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น ณ ราคาปิดในตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน เท่ากับ 93.39 เหรียญสหรัฐ คิดเป็น P/E 54.3 เท่าของกำไร แต่นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรจะก้าวกระโดดในช่วงครึ่งหลังของปีการเงิน และทำให้ P/E ลดลงมาเป็น 29 เท่าค่ะ
ราคาหุ้นตอนเสนอขายครั้งแรกในปี 2557 คือ 68 เหรียญ ขึ้นไปสูงสุดปลายปีที่เข้าตลาดที่ 119.15 เหรียญ ลงไปต่ำสุดเมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ 57.39 เหรียญ ราคา 93.39 เหรียญในตอนนี้ก็ถือว่าแพงนิดหน่อยค่ะ
หมายเหตุ : การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนโปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง บทความนี้เป็นการนำเสนอกรณีศึกษา มิได้มุ่งหวังชี้ชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนแต่อย่างใด
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFP