ซีเอ เผยผลสำรวจความพร้อมของประเทศกลุ่มเอเชียใต้ 10 ประเทศ ชี้ภาพรวมไทยขึ้นแท่นอันดับ 8 เพิ่มขึ้น 2 อันดับ จากปัจจัยด้านความพร้อมในการรองรับ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชัน ระบุชัดมีศักยภาพด้านการเข้าถึงโซเชียล และจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 42 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนคนหนุ่มสาวมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก ประชากรคุ้นเคยในการใช้งานแอปพลิเคชัน และโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นอย่างดี แนะสร้างความปลอดภัยส่วนบุคคล และส่งเสริมการจ่ายเงินผ่านโมบาย เพย์เมนต์เพื่อสร้างบรรยากาศอีคอมเมิร์ซที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเร่งขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุม พร้อมยกระดับความปลอดภัยอินเทอร์เน็ตเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เคนเนธ อาเรนดอนโด ประธานและผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น บริษัท ซีเอ เทคโนโลยี กล่าวเปิดในงาน CA Technologies Asia Pacific & Japan Media & Analysts Summit 2016 ที่ประเทศสิงคโปร์ว่า โลกยุคใหม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ “เศรษฐกิจแอปพลิเคชัน” ภายใต้การเชื่อมต่อที่มีอยู่ในโลกดิจิตอลมากขึ้น ในอนาคตอุปกรณ์ส่วนใหญ่จะสามารถสื่อสารถึงกัน เพื่อเอื้อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหมายถึงการสร้างแอปพลิเคชันที่หลากหลายเพื่อควบคุม และสั่งการอุปกรณ์เหล่านั้น และให้ผู้คนได้เข้าถึงการใช้งานอย่างง่ายดายจากทุกที่ทุกอุปกรณ์ แน่นอนว่าเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคดิจิตอลจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านโลกยุคปัจจุบันให้เข้ามาอยู่ในโลกดิจิตอลมากขึ้น
ทั้งนี้ ผลการจัดทำดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจแอปพลิเคชันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และญี่ปุ่น ประจำปี 2016 หรือ Application Economy Index (AEI) ซึ่งจัดทำขึ้น และดูแลโดยบริษัท ซีเอ เทคโนโลยี ภายใต้การวิจัยโดยบริษัทวิจัย TRPC พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอยู่ในอันดับ 8 ของภูมิภาคนี้ ในด้านความพร้อม การรองรับ การพัฒนา และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งานแอปพลิเคชัน โดยนำหน้าอินเดีย และอินโดนีเซีย แต่ตามหลังสิงคโปร์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง มาเลเซีย และจีน โดยผลดังกล่าวชี้วัดความพร้อมของ 10 ชาติในเอเชียแปซิฟิกที่จะก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชัน โดยโลกดิจิตอลในยุคปัจจุบันมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์อื่นๆ สามารถพูดคุยติดต่อกันเอง ในขณะที่ร้านค้าแบบเดิมได้กลายมาเป็นร้านออนไลน์ที่พกอยู่ในกระเป๋า บริการต่างๆ สามารถเข้าถึงได้ผ่านการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง แสดงให้เห็นว่าทุกธุรกิจจะเป็นธุรกิจซอฟต์แวร์ และจำเป็นที่จะต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิตอลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น
ลิม เมย์-แอนน์ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัทวิจัย TRPC กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้นำเทคโนโลยี ผู้ท้าทายเทคโนโลยี หรือกลุ่มเทคโนโลยีกระแสหลัก ทุกประเทศล้วนจำเป็นที่จะต้องสร้างสภาพแวดล้อมพื้นฐานที่เหมาะสมให้ธุรกิจเจริญเติบโตในยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชันให้ได้ โดยการเดินหน้าสร้างจุดเด่นที่สำคัญของตนเองขึ้นมา เพื่อสร้างความแตกต่าง พร้อมกับการปิดจุดอ่อนที่มีอยู่ หรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตให้สำเร็จ
ความท้ายทายของการพัฒนาไปสู่เศรษฐกิจแอปพลิเคชันมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตภายใต้การประเมินตัวแปรสำคัญ เช่น 1.การใช้งานภาครัฐ และการสนับสนุนเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ด้วยนโยบายทางเทคโนโลยีของรัฐบาลที่ถูกต้อง รวมทั้งความสามารถในการโปรโมตนวัตกรรมต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งหมายถึงภาครัฐจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องการใช้งานซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันด้วย 2.โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ ถ้าไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเหล่านี้ และไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดังกล่าวได้ เศรษฐกิจยุคแอปพลิเคชันจะไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น หัวใจหลักของการเชื่อมต่อ และเครือข่ายเน็ตเวิร์กความเร็วสูงจำเป็นจะต้องมีความพร้อมมากที่สุด รวมทั้งต้องมีสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจ และการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี 3.ความยืดหยุ่นทางธุรกิจ เป็นเสมือนขีดความสามารถในการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง และช่วงชิงโอกาสในการเป็นผู้นำตลาดในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแต่ละประเทศมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบการทางธุรกิจ และรูปแบบใหม่ของการค้าเชิงพาณิชย์ที่จะเกิดขึ้น
จากข้อมูลดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ค่อนข้างต่ำตามตัวแปรส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการใช้งานภาครัฐ และการส่งเสริมเทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆตลอดจนในหัวข้ออินเทอร์เน็ต และโครงสร้างพื้นฐานโทรศัพท์มือถือ โดยประเทศไทยยังได้รับการจัดอันดับสุดท้ายในภูมิภาคนี้ ในด้านปัญหาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งข้อมูลชี้ให้เห็นว่า จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการใช้งานทางนวัตกรรมใหม่เพิ่มขึ้น
ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเพิ่มเติม เนื่องจากอยู่ในอันดับที่ 9 ตามค่าเฉลี่ยของความเร็วการเข้าใช้งานเครือข่ายมือถือ และได้อันดับที่ 8 ในเรื่องการขยายตัวครอบคลุมของการใช้งานอินเทอร์เน็ต และอันดับที่ 7 ในเรื่องการขยายตัวโครงข่ายสำหรับสมาร์ทโฟน ขณะที่ในหัวข้อความยืดหยุ่นในการปรับตัวทางธุรกิจนั้น ประเทศไทยควรจะเน้นความสำคัญในการยกระดับการรักษาความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต และส่งเสริมความพร้อมของระบบการจ่ายเงินโมบายมากขึ้น ซึ่งไทยได้รับจากการจัดอันดับเป็นอันดับสุดท้าย และอันดับ 8 ซึ่งถ้ามีการพัฒนาในด้านต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างบรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการดำเนินธุรกิจ และพัฒนาอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ การสำรวจความเป็นไปได้ของอนาคตผู้นำตลาดในยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชัน มองจากการใช้ดัชนีตัวเร่งศักยภาพตลาด Market Potential Accelerators (MPA) ซึ่งดัชนีนี้จะประเมินค่าตัวแปรต่างๆ ที่มีศักยภาพที่จะส่งผล และเร่งศักยภาพการขยายตัวของตลาดของแต่ละประเทศในยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชันใหม่ ซึ่งได้แก่ 1.จำนวนของผู้ใช้สมาร์ทโฟนในตลาดของแต่ละประเทศ 2.จำนวนของผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตมือถือในชีวิตประจำวัน 3.การใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก 4.จำนวนการใช้งานแอปพลิเคชันโมบายในแต่ละวัน และ 5.ขนาดของจำนวนประชากรที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวของแต่ละประเทศ
ดัชนีตัวเร่งศักยภาพตลาดจะช่วยประเมินผลตัวแปรต่างๆ ที่มีผลต่อศักยภาพของตลาดแต่ละชาติในยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชัน ซึ่งเมื่อเอาตัวดัชนี MPA เข้ามาคำนวณร่วมด้วยลำดับของประเทศไทยได้เลื่อนขึ้นมา 2 อันดับ ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 6 ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสหลายด้านที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ตัวอย่าง เช่น จำนวนฐานผู้ใช้งานมือถือสมาร์ทโฟนที่ค่อนข้างใหญ่มีจำนวนกว่า 42 ล้านคน รวมทั้งจำนวนประชากรที่ยังอยู่ในวัยหนุ่มสาวที่มีมากกว่าค่าเฉลี่ย และกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
นอกจากนี้ ประชากรไทยยังคุ้นเคยต่อการใช้งาน และมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆ โดยมีการจัดอันดับเป็นที่ 4 ในเรื่องของการใช้งานแอปพลิเคชัน และการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก อีกทั้งภาครัฐยังมีแผนการออก “พระราชบัญญัติเศรษฐกิจดิจิตอล” ซึ่งจะครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การรักษาความปลอดภัยอินเทอร์เน็ต และการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นิค ลิม รองประธานประจำภูมิภาคเอเชียใต้ บริษัท ซีเอ เทคโนโลยี กล่าวเสริมว่า ผลการจัดอันดับปัจจุบันที่ออกมาไม่ได้สะท้อนถึงศักยภาพที่ควรจะเป็นในกรณีของประเทศไทย เพียงแต่แสดงให้เห็นภาพรวมที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ และชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของเอเชียในประเทศต่างๆ เป็นอย่างไร โดยดูจากเงื่อนไขของสภาพทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาแอปพลิเคชัน และการเข้าถึงตลาด ดังนั้น ภาคธุรกิจต่างๆ จะพบว่า ซอฟต์แวร์มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจะช่วยให้แข่งขันได้ และอยู่รอดในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ทางภาครัฐก็ควรเร่งเข้าแก้ปัญหาจุดอ่อนในด้านนโยบาย และโครงสร้างพื้นฐานเช่นกัน
ทั้งนี้ การเลื่อนอันดับของประเทศไทยในการใช้ดัชนีวัดแบบ MPA ได้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีใหม่สามารถสร้างสรรค์โอกาสในการแข่งขันให้แต่ละประเทศก้าวต่อไปในยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชันได้ แม้ว่าจะดูเชื่องช้าในช่วงแรก ควบคู่ไปกับธุรกิจที่จะต้องเดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาด และรัฐบาลก็ควรจะรุกเดินหน้าขยายผลทางนโยบาย เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันความต้องการในตลาดต่อไป โดยในอนาคตทั้งองค์กรธุรกิจ และรัฐบาลจะต้องจับมือกันเพื่อสร้างโครงสร้างทางเทคโนโลยีเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นเทรนด์ใหม่ของการสร้างอนาคตของประเทศต่อไป ทั้งนี้ การสำรวจในครั้งนี้ใช้ตัวแปรที่ได้มาจากค่าสถิติต่างๆ ที่เป็นข้อมูลสาธารณะ และมีการเปิดเผยในแต่ละประเทศ
สตีเฟ่น ไมล์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เอพีเจ ซีเอ เทคโนโลยี กล่าวว่า กฎของการเปลี่ยนเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชัน ได้แก่ 1.การสร้างวัฒนธรรมของการเปลี่ยนผ่านบนความต้องการที่เพิ่มขึ้น 2.ประสบการณ์ที่แตกต่างเพื่อสร้างความต้องการ และตอบสนองการใช้งานที่มากขึ้น 3.เพิ่มแรงขับเคลื่อนในทุกสิ่ง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว 4.ก้าวข้ามการควบคุมได้อย่างง่ายดาย เพื่อหลอมรวมเทคโนโลยีเหล่านี้ด้วยความเหมาะสม และรวดเร็ว จนทำให้เกิดโซลูชันที่ลงตัว และเอื้อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
โดยสิ่งที่ต้องทำ ประกอบด้วย การพัฒนาด้านซอฟต์แวร์เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งาน และกระตุ้นให้เกิดการบริการที่เหมาะสม ตลอดจนการเปลี่ยนระบบที่ช่วยพัฒนา และปรับปรุงโครงสร้างโซลูชันให้เกิดความเหมาะสมที่สุดอย่างต่อเนื่อง (Ci/CD) รวมทั้งการพัฒนา และปรับปรุงช่องทางการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชัน (APIs) เพื่อช่วยให้เกิดการทำงานของโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญการสร้างระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง เพื่อช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน เป็นหัวใจหลักของการสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี และเอื้อให้เกิดการทำงานขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต โดยทั้งหมดล้วนอยู่บนโครงสร้างความต้องการด้านโซลูชัน ความต้องการด้านลูกค้า และท้ายที่สุด เป็นความต้องการของธุรกิจเอง เพื่อให้เกิดภาพรวมทางธุรกิจตามต้องการ
ทั้งนี้ ปลายปี 58 ที่ผ่านมา ซีเอ ได้สำรวจการลงทุนเพื่อเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีสู่โครงสร้างแบบเศรษฐกิจแอปพลิเคชัน พบว่า กว่า 45% ของบริษัทที่เริ่มลงทุนเปลี่ยนผ่านสามารถสร้างลูกค้าเพิ่มขึ้นได้กว่า 44% และยังสามารถสร้างประสิทธิภาพในการทำกำไรให้แก่บริษัทได้เพิ่มขึ้น เมื่อการเปลี่ยนผ่านบรรลุผลสำเร็จ และผลการศึกษาชี้ชัดถึงการรักษาความปลอดภัยออนไลน์เป็นตัวแปรสำคัญของสร้างพื้นฐานรองรับยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชัน
Company Related Link :
CA Technologies