ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ความจริงก็ไม่น่าแปลกใจอะไรแม้แต่น้อยสำหรับการที่ “แจ็ค หม่า” มหาเศรษฐีชาวจีนตัดสินใจไปตั้ง “อี-คอมเมิร์ช ฮับ” หรือ “ศูนย์กระจายสินค้า” ในประเทศมาเลเซีย แทนที่จะเป็นประเทศไทย ทั้งๆ ที่ผู้ก่อตั้งและประธานผู้บริหารกลุ่มอาลีบาบาเคยเดินทางมาเยือนไทยถึง 2 ครั้ง 2 ครา
ที่สำคัญคือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เมื่อวิเคราะห์ถึงเหตุและผลที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจดังกล่าว
เพราะต้องยอมรับว่า แม้ไทยจะมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพราะต้องยอมรับว่า แม้ไทยจะมีกระทรวงดิจิตัลและประกาศชัดเจนในแนวนโยบายในการพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
แต่ชั่วโมงนี้มาเลเซียมีความพร้อมและความเหมาะสมกว่าไทยในหลายๆ ด้าน
กระนั้นก็ดี ก็ใช่ว่าเจ้าพ่ออาลีบาบาจะทิ้งประเทศไทยไปเลยเสียที่ไหน เพราะยังปักหลักทำธุรกิจในไทยเหมือนเดิม เพียงแต่จับมือกับภาคธุรกิจเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลไทย ดังนั้น จึงไม่ต้องปริวิตกกันให้เสียสุขภาพจิต
กล่าวสำหรับการลงทุนสร้างอี-คอมเมิร์ชฮับในมาเลเซียนั้น เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา และรัฐบาลมาเลเซีย ในการพัฒนาเขตการค้าเสรีดิจิทัล (ดีเอฟทีซี)หรือ DFTZ ในมาเลเซีย และสอดคล้องกับแพลทฟอร์มการค้าโลกในระบบอิเลกทรอนิก (eWTP)
นายหม่า ได้เปิดตัวดีเอฟทีซี ร่วมกับนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โดยระบุชัดว่า อี-คอมเมิร์ซฮับในมาเลเซียถือเป็นฮับแห่งแรกนอกประเทศจีน มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมทั้งผู้ประกอบการรุ่นใหม่
ศูนย์กระจายสินค้าดังกล่าวตั้งอยู่ภายในโครงการเคแอลไอเอ แอโรโพลิส ที่เซปัง บนเนื้อที่ 24,700 เอเคอร์ พัฒนาโดยบริษัทมาเลเซีย แอร์พอร์ท โฮลดิง ซึ่งคาดการณ์ว่าโครงการนี้จะดึงดูดการลงทุนทั้งจากต่างชาติและในประเทศมูลค่ากว่า 1,580 ล้านดอลลาร์ (55,300 ล้านบาท)
“อาลีบาบาถือเป็นคู่ค้าที่สมบูรณ์แบบสำหรับมาเลเซียในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบดิจิทัล” นายราซัค กล่าว
การประกาศแผนตั้งศูนย์กระจายสินค้าของอาลีบาบา เกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีนาจิบ ประกาศแต่งตั้งนายแจ็ค หม่า เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของมาเลเซียเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว พร้อมทั้งแสดงความมั่นใจว่า เจ้าของอาณาจักรธุรกิจอี-คอมเมิร์ซรายนี้จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำในการสร้างหนทางแห่งอนาคตให้กับมาเลเซียได้
ก่อนหน้าที่ แจ็ค หม่า จะไปตกล่องปล่องชิ้นกับมาเลเซีย เขาได้มาขายฝันกับไทยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 59 แจ็ค หม่า กล่าวในงานบรรยายพิเศษสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่หัวข้อ “Entrepreneurship and Inclusive Globalization” ขณะเดินทางมาประเทศไทยว่า ภายใน 12 เดือนจากนี้จะได้เห็นโรดแมพการทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย
ขณะเดียวกันจะมีการปรับแผนให้เหมาะสมทุก 6 เดือน สิ่งที่หวังคงไม่ใช่ความหวังความสำเร็จยิ่งใหญ่ แต่จะค่อยๆ ทำให้เกิดขึ้นทีละน้อย เบื้องต้น งานที่จะทำร่วมกัน เช่น ยกระดับเอสเอ็มอี เทรนนิ่งผู้ประกอบการรายใหม่ พัฒนาคน เปิดโอกาสให้ไปศึกษาดูงานที่สำนักงานใหญ่อาลีบาบา รวมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทย
“ผมมองว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 การสนับสนุนสตาร์ทอัพ รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ของรัฐบาลไทยนั้นมาถูกทางแล้ว อาลีบาบายินดีให้การสนับสนุน ช่วยให้ไทยสามารถเสนอเอกลักษณ์สู่สายตาโลก”
เมื่อครั้งเจ้าพ่ออาลีบาบามาไทย แจ็ค หม่า ไม่ได้แค่โฉบมาขายฝันแล้วจากไป แต่ยังมีความตกลงถึงขั้นตั้งคณะทำงานร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการบอกล่าของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
แจ๊ค หม่า ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับเรื่องดิจิทัลของไทยเหมือนกับที่เคยช่วยรัฐบาลจีนและรัฐบาลของอีกหลายประเทศทั่วโลกมาแล้ว เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยหรือเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนกว่า 90% ของผู้ประกอบการในไทยทั้งหมดให้มีโอกาสค้าขายไปยังต่างประเทศ
ตามแผนการทางอาลีบาบากรุ๊ปและรัฐบาลไทย จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อมาร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการ มีแผนงาน 1 ปี โดยทางอาลีบาบา จะมาร่วมพัฒนาแพล็ตฟอร์มเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยค้าขายได้ ทั้งยังจะมาช่วยฝึกนักธุรกิจและเอสเอ็มอีของไทยเรื่องการค้าขายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซ และจะร่วมกับรัฐบาลและสถาบันการศึกษาช่วยสอนเรื่องอี-คอมเมิร์ซ ให้เกิดการตื่นตัวในเด็กรุ่นใหม่ เพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือสตาร์ทอัพขายสินค้าให้กับคนทั่วโลก
แจ๊ค หม่า มองว่า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรคือจุดแข็งของไทย สามารถส่งออกไปสู่ตลาดใหญ่อย่างจีน ยุโรป และทั่วโลก ดังนั้นสิ่งที่ต้องเข้าไปสนับสนุนคือทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าได้บนโลกออนไลน์ เรื่องนี้รัฐบาลต้องวางนโยบายพร้อมพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโต
ที่สำคัญ พ่อมด อี-คอมเมิร์ซ ย้ำและยืนยันว่าไม่คิดจะมาทำเงินในไทย แต่จะเป็น แพลตฟอร์ม อินฟราสตรักเจอร์ ส่วนหนึ่งช่วยพัฒนาอีโคซิสเต็ม เชื่อมโยงการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ยกระดับภาคธุรกิจ และผลักดันให้เกิดการเติบโต โดยบทบาทสำคัญจะเข้ามาเป็นพันธมิตร ไม่ใช่มาควบคุมหรือทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นตายจากไป เพราะหากเป็นเช่นนั้น อาลีบาบาเองคงอยู่ไม่ได้เช่นกัน
แจ็ค หม่า มาไทย ชื่นชมไทย แต่ทำไมสุดท้ายถึงเลือกมาเลเซียของนาจิบ ราซัค
กล่าวโดยภาพรวมแล้ว แม้ไทยจะมีที่ตั้งอยู่ในทำเลที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ถามว่า ถ้าให้แจ็คหม่าเลือก แจ็ค หม่า ก็ต้องเลือกมาเลเซียอยู่ดี เพราะรัฐบาลมาเลเซีย ประกาศสนับสนุนเต็มสูบ รวมทั้งสามารถกระจายสินค้าไปยังประเทศที่ถือว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า จากมาเลเซียมาไทย จากมาเลเซียไปสิงคโปร์ จากมาเลเซียไปอินโดนีเซีย จากมาเลเซียไปฟิลิปปินส์ และจากมาเลเซียไปบรูไน
ไม่นับความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีของมาเลเซีย ไปไกลกว่าไทยมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากร ความพร้อมด้านระบบเครือข่าย ความพร้อมในการรองรับคลาวด์คอมพิวติ้ง หรือเรื่องการบริหารงานแบบ E-Government โดยรวมแล้วความก้าวหน้าด้านไอที มาเลเซียในภูมิภาคนี้เป็นรองแค่สิงคโปร์เท่านั้น
ขณะที่ถ้าหากตั้งอยู่ที่ประเทศไทย กลุ่มประเทศที่อยู่รอบข้างในเวลานี้ก็ยังไม่ได้มีความพร้อมที่จะเป็นลูกค้าของอาลีบาบา เต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นเมียนมาร์ ลาว กัมพูชา รวมกระทั่งถึงเวียดนาม
นอกจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจแบบดิจิตัลของไทยก็ยังไม่ได้พร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ จะเร่งเครื่องในการปรับโครงสร้างพื้นฐานในทุกๆ ด้านของประเทศอย่างขนานใหญ่ก็ตาม เอาแค่โครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านก็เพิ่งเกิด ซึ่งไม่อาจทันกับความต้องการของอาลีบาบาในการ “ปักหมุดแรก” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
หรือสรุปง่ายๆ ก็คือประเทศไทย ดีพอสำหรับในอนาคต แต่ไม่ดีพอสำหรับอาลีบาบาในห้วงเวลานี้
นี่นับเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลไทยจำต้องตระหนักให้มาก