xs
xsm
sm
md
lg

“รวงข้าว” คาดจีดีพีปี 60 เติบโตได้ 3.3% ใกล้เคียงปีนี้ ส่งออกพลิกเป็นบวก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดจีดีพีปี 60 เติบโตได้ 3.3% ใกล้เคียงปีนี้ เชื่อส่งออกพลิกกลับมาบวกได้ 0.8% ขณะที่นโยบายของ ปธน.สหรัฐฯ คนใหม่ยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตา เพราะมีผลต่อ ศก.ทั่วโลก

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 60 จะมีอัตราการขยายตัว (จีดีพี) ที่ระดับ 3.3% ใกล้เคียงกับปีนี้ โดยยังได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว แม้ว่าอัตราการขยายตัวของทั้ง 2 รายการอาจชะลอลง เนื่องมาจากผลของฐานที่สูง

สำหรับการส่งออก คาดว่าจะพลิกเป็นบวกได้ที่โต 0.8% จากในปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัว -0.5% ซึ่งการขยายตัวของการส่งออกปีหน้าเป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคา ขณะที่ปริมาณการส่งออกอาจจะยังขยายตัวได้ไม่มากนัก

อย่างไรก็ดี ความชัดเจนด้านการเมืองภายในประเทศตามโรดแมปของรัฐบาลน่าจะส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้น โดยคาดว่าการลงทุนภาคเอกชนปีหน้าจะโต 2.8% จากปีนี้ที่โตเพียง 1.3%

ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีหน้า คาดว่าจะสูงขึ้นเป็น 1.8% รวมถึงระดับหนี้ที่สูง และประเด็นราคาสินค้าเกษตรอาจจะสร้างข้อจำกัดต่อการบริโภคภายในประเทศได้

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยเองนั้น เชื่อว่า จะยังคงที่ระดับ 1.50% ไปตลอดทั้งปีหน้า โดยช่วงปลายปีหน้าอาจจะมีการพิจารณาสถานการณ์ต่างๆ อีกครั้ง เพราะทิศทางอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับขึ้น ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจจะมีการพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ในปี 61

“เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีแรงผลักดันหลักมาจากการลงทุนภาครัฐ และการท่องเที่ยว ซึ่ง 2 ตัวนี้โตได้ดี แต่จากฐานที่สูง การขยายตัวคงชะลอลงจากปีนี้ แต่ตัวเลขส่งออกปีหน้าเป็นบวก เพราะผลจากราคาน้ำมันจะช่วยพยุงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางเป็นบวก ซึ่งราคาส่งออกจะดันให้ตัวเลขส่งออกโดยรวมเป็นบวกราว 0.8% ส่วนวอลุ่มคงโตได้จำกัด”

นายเชาว์ กล่าวว่า ประเด็นที่เป็นความท้าทายของการส่งออกในปีหน้า คือ แนวนโยบายของสหรัฐฯ ที่จะมีการต่อรองกับหลายประเทศในเรื่องการค้า ซึ่งการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศที่จะส่งผลกระทบมาถึงไทย คือ จีน จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ มีนโยบายจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ซึ่งกรณีนี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนอีกประเด็น คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (TPP) นั้น เชื่อว่า เรื่องนี้นโยบายของทรัมป์ จะไม่สนับสนุนความตกลงดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุน และแผนการส่งออกของญี่ปุ่น และเวียดนาม อันจะมีผลกระทบมาถึงไทยในระยะกลาง

“กว่าที่จะเห็นการเจรจาของสหรัฐฯ กับแต่ละประเทศจบลงได้ คงใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี ถ้าเคลียร์กันได้ หลังจากนั้น น่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ในช่วงเทอมแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ นักลงทุนคงจะรอดูการเจรจาก่อน”

นายเชาว์ กล่าวว่า โครงการต่างๆ ที่เคยมองว่าจะมาใช้ประเทศในแถบเอเชียเป็นฐานการลงทุน หรือฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ อาจจะต้องมีการคิดทบทวนใหม่ เพราะทิศทางนโยบายของทรัมป์ น่าจะต้องการให้ไปลงทุนในสหรัฐฯ โดยตรงมากกว่าที่สหรัฐฯ จะนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศในความตกลง TPP เพราะสหรัฐฯ ต้องการสร้างงาน ดังนั้น กรณีนี้จึงถือเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการว่า ทรัมป์จะดำเนินนโยบายนี้ไปในทิศทางที่สามารถผ่อนปรนได้หรือไม่

นายเชาว์ ยังกล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยคาดว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะทำได้น้อยกว่าที่คิดไว้ ซึ่งขณะนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่า และจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง นอกจากนี้ ตลาดจะมีความกังวลในการทำงานร่วมกันระหว่างทีมของทรัมป์ กับธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีความราบรื่นมากน้อยเพียงใด

นายเชาว์ กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่นี้ นักลงทุนคงต้องอ่านนโยบายของสหรัฐฯ ให้ชัดเจนว่า จะเดินไปในทิศทางใด หากนโยบายที่ออกมาต้องการให้คนไปลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น ก็จะต้องมีการปรับแผนการทำธุรกิจให้ไปในทิศทางนั้น แต่อย่างไรก็ดี คงต้องขึ้นกับความยืดหยุ่นในการเจรจาว่า สามารถทำได้มากน้อยเพียงใดด้วย

“ถ้าเขาอยากให้คนลงทุนกับเขา เราคงต้องปรับ ซึ่งไม่ได้หมายความแค่รัฐบาลไทย แต่รัฐบาลทั่วโลก และนักธุรกิจทั่วโลกต้องตีโจทย์นี้ว่า ตอนนี้หากจะทำธุรกิจกับสหรัฐฯ ก็ต้องเดินแบบนี้ เพราะเขาต้องการสร้างงาน และต้องการให้เงินอยู่กับเขา” นายเชาว์ กล่าวสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น