วสท.เตรียมจัดงานสัมมนาใหญ่ส่งท้ายปี “งานวิศวกรรมแห่งชาติ ปี 2559” ขอร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จัดนิทรรศการ “ในหลวงกับงานช่าง” เชิญวิศวกรผู้เคยทำงานสนองพระราชดำริ ถ่ายทอดเรื่องราวในหัวข้อ “วิศวกรตามรอยพระบาท” ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ย.59
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) เปิดเผยว่า วสท.มีความประสงค์แสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผ่านการจัดนิทรรศการ “ในหลวงกับงานช่าง” ซึ่งรวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ทรงงานช่างตลอดเวลาที่ผ่านมา พร้อมเชิญวิศวกรผู้เคยทำงานสนองพระราชดำริภายใต้หัวข้อโครงการวิศวกรรมตามรอยพระบาท มาร่วมเผยแพร่ความประทับใจ และประสบการณ์จริงที่ได้สัมผัสจากการทำงานร่วมกับพระองค์แก่ประชาชนที่สนใจ
วัตถุประสงค์หลักในการจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะเป็นโอกาสในการแสดงความจงรักภักดี และเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วสท.ยังเล็งเห็นถึงความสำคัญของวิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะ เนื่องจากงานวิศวกรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนพบปะในชีวิตประจำวัน อาทิ ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน ระบบขนส่งมวลชน การติดต่อสื่อสาร
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีในงานวิศวกรรมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ด้วยความรับผิดชอบของวิศวกรในฐานะผู้สร้างเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ คือ กำกับดูแลมาตรฐานการออกแบบ การติดตั้ง การรักษาซ่อมบำรุงเพื่อให้ระบบงานวิศวกรรมทำงานได้อย่างถูกต้อง และปลอดภัยต่อบุคคล สังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม ให้สอดคล้องกับนโยบายพัฒนาประเทศสู่ยุค 4.0 ซึ่งหัวข้อสัมมนาของงานในปีนี้ส่วนใหญ่เป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง เน้นเผยแพร่ความรู้ และวิธีป้องกันปัญหาด้านวิศวกรรมที่เกิดในชีวิตประจำวันแก่คนทั่วไปได้รู้ทันพร้อมรับมือ
นส.บุษกร แสนสุข ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมความปลอดภัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า วิศวกร และผู้ประกอบการบางส่วนมองข้ามความสำคัญในการลงทุนด้านความปลอดภัย หลีกเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย และเทศบัญญัติต่างๆ รวมถึงละเลยการตรวจสอบดูแลบำรุงรักษาระบบการจัดการ และอุปกรณ์ใช้งาน ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติด้านสาธารณูปโภค และอุบัติเหตุในสังคมจากอดีตถึงปัจจุบัน อีกทั้งเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ปรับเปลี่ยนไม่หยุดนิ่ง
“หัวข้อหลักของงานวิศวกรรมแห่งชาติปีนี้ คือ วิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะ วสท.เล็งเห็นความสำคัญในการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัยหลายรูปแบบ เข้ามาใช้อำนวยความสะดวก และช่วยประหยัดพลังงานมากขึ้น เช่น ระบบขนส่งมวลชน ระบบพลังงานทดแทนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต ระบบดับเพลิงด้วยสารพิเศษ หรือก๊าซในอาคาร เป็นต้น หากผู้ที่รับผิดชอบขาดมาตรฐานการบริหารจัดการ การออกแบบ การก่อสร้าง การติดตั้ง และการดูแลรักษา สามารถส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมากได้ ในกรณีที่ระบบการทำงานผิดพลาด ซึ่งอยากให้ทุกคนตระหนัก และเห็นความสำคัญเหล่านี้” นส.บุษกร กล่าว
สำหรับงานจัดในวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2559 ตั้งแต่ 9.00 น.-17.00 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนเอ และห้องแกรนด์ บอลรูม ภายในงานมีวิทยากร และบุคคลมีชื่อเสียงมากมายร่วมถ่ายทอดแนวคิด และประสบการณ์จริงเกี่ยวกับวิศวกรรมกับความปลอดภัยสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อทุกคนนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งมีการจัดบูทแนะนำผลิตภัณฑ์ช่วยงานวิศวกรรมทำงานอย่างปลอดภัย และทันสมัยจากองค์กรชั้นนำ เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัยในอาคาร ตัวอย่างบ้านปลอดภัย EIT Home Safety แบบอย่างในการก่อสร้าง และติดตั้งระบบเพื่อความปลอดภัยต่อชีวิต (Life Safety)