xs
xsm
sm
md
lg

CIMBT ประเมินผลได้ผลเสียของไทยหลังสหรัฐฯ ได้ตำแหน่ง ปธน.คนใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


CIMBT ประเมินผลได้ผลเสียของไทยหลังสหรัฐฯ ได้ตำแหน่ง ปธน.คนใหม่ แนะไทยผลักดันความร่วมมือทางการค้าในกลุ่ม RCEP หลังจากมีความเชื่อว่า ผู้ท้าชิง ปธน.สหรัฐฯ ทั้งคู่ไม่ต้องการ TPP เพื่อสลายจุดอ่อนที่สำคัญของไทย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย หรือ CIMBT เปิดเผยถึงผลกระทบนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ต่ออาเซียน และไทยว่า สำหรับนโยบายการค้าระหว่างประเทศ ตัวแทนผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนเห็นด้วยกับการสร้างงานให้มากขึ้น โดยการหาวิธีลดการนำเข้า หรือไม่ก็เจรจาข้อตกลงโดยเฉพาะ TPP (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership Agreement) หรือความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย และแปซิฟิกกันใหม่ โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ อ้างว่า รายงานการจ้างงานของสหรัฐฯ ดูย่ำแย่ ขณะที่คนอเมริกันจำนวนมากสูญเสียงานให้กับจีน และเวียดนาม ส่วนนางฮิลลารี คลินตัน ระบุว่า การทุ่มตลาดเหล็กของจีนก่อให้เกิดการปิดตัวลงของอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯ

“ผมคาดการณ์ในเรื่องนี้ว่า ประธานาธิบดีคนใหม่จะดำเนินนโยบายตอบโต้ทางการค้าที่รุนแรงกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ซึ่งอาจจะรวมทั้งการเพิ่มอัตราภาษีนำเข้า หรือตั้งกำแพงทางการค้าที่มิใช่ภาษี แต่ในที่สุดอาจเป็นผลลบต่อสหรัฐฯ เอง ถามว่าทำไม ก็เพราะสหรัฐฯ พึ่งพาสินค้า และวัตถุดิบจากจีนมากโดย 1 ใน 5 หรือ 20% ของการนำเข้าของสหรัฐฯ มาจากจีน ขณะที่สหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าจากอาเซียน 7.3% โดยในอาเซียนนั้น เวียดนามมีส่วนแบ่งการนำเข้าจากสหรัฐฯ มากที่สุดประมาณ 1.9% ตามด้วยมาเลเซีย และไทย ขณะที่ผลิตภาพของแรงงานสหรัฐฯ ก็ไม่สูงพอที่จะชดเชยการผลิตจากภายนอกประเทศด้วยต้นทุนต่ำ ดังนั้น ถ้าสหรัฐฯ ขึ้นราคาสินค้านำเข้าถามว่า จะไม่ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพของสหรัฐฯ สูงขึ้นเลยหรือ แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ผมคิดว่า การส่งออกของอาเซียนคงจะหดตัวลงในปีหน้า ทั้งที่ส่งออกไปยังจีน และระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง”

ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของการรวมกลุ่ม TPP กำลังจะช่วยสลายจุดอ่อนของไทย จากการที่ผู้ท้าชิงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งคู่ต่างแสดงจุดยืนด้านนโยบายว่า ไม่ต้องการ TPP เพราะต้องการให้สหรัฐฯ กลับมาเป็นมหาอำนาจในการผลิตสินค้าภายในประเทศมากกว่าพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ไทย จึงควรใช้โอกาสนี้ผลักดันความร่วมมือทางการค้าของไทยในกลุ่ม RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะเริ่มมีสัญญาณชัดเจนขึ้นภายในปลายปีนี้ หรือปีหน้า หลังจากที่ได้ประชุมร่วมกันมาแล้วถึง 15 รอบ

นายอมรเทพ กล่าวต่อว่า นโยบายไม่ต้องการ TPP ของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทั้งสองคนกำลังช่วยสลายจุดอ่อนของไทยในเชิงการค้า สืบเนื่องจากไทยไม่ได้เข้าร่วมกับ TPP ตั้งแต่ต้น ซึ่งเดิมได้ส่งผลให้ไทยเสียความน่าสนใจในการลงทุนให้แก่เวียดนาม ซึ่งเข้าร่วมกับ TPP ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกัน ประเทศที่เข้าร่วม TPP อย่างญี่ปุ่น อาจตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากไทยไปเวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ที่เข้าร่วม TPP ได้ ทำให้ไทยอาจเสียเปรียบเวียดนามในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทย ก็จะเสียเปรียบในการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม จะได้สิทธิประโยชน์ทั้งสิทธิ GSP และข้อตกลง TPP รวมทั้งต้นทุนการผลิตต่ำกว่าไทย ทั้งนี้ งานศึกษาของต่างประเทศระบุว่า เวียดนามได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม TPP

ดังนั้น หากสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายไม่ต้องการ TPP ขึ้นมา ทำให้เวียดนามไม่มีความได้เปรียบไทยมากนัก อีกทั้งยังทำให้ความน่าสนใจในการลงทุนของไทยยังมีอยู่จากการที่ไทยมีพรมแดน และการคมนาคมเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV ที่กำลังเติบโต และนักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อตอบโจทย์การลงทุน นอกจากนี้ ไทยเองต้องพยายามเดินหน้าความร่วมมือกับกับประเทศในเอเชียมากขึ้น เพื่อลดแรงกดดันจากการที่สหรัฐฯ กำลังจะเปลี่ยนนโยบายการค้ามาเน้นผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้น และลดการพึ่งพาตลาดต่างประเทศลง ซึ่งนโยบายนี้ของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยทั้งทางตรง และทางอ้อม จากการที่ไทยเป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ และไทยเป็นคู่ค้าของจีนที่ผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ

ในเมื่อ TPP มีความล่าช้าทำให้อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น เครื่องจักรกล ที่คาดว่าจะสูญเสียความสามารถการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ให้กับประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะมาเลเซีย ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ ยังรวมถึงอุตสาหกรรมยาที่ TPP ได้กำหนดมาตรฐานยารักษาโรคให้สูงขึ้น ส่งผลให้ราคายานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ก็อาจจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนำเข้ายา

ด้านนโยบายการคลัง ตัวแทนผู้สมัครทั้งสองคนมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ หนี้สาธารณะจะเพิ่มสูงขึ้น มีรายงานว่า ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อยู่ที่ 77% ของจีดีพี แต่จากนโยบายของคลินตัน คาดกันว่า หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ จะขยับขึ้นเป็น 86% ของจีดีพีภายในระยะเวลา 10 ปี แต่ภายใต้นโยบายของทรัมป์ หนี้สาธารณะจะพุ่งขึ้นมากกว่า โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 105% ของจีดีพี
คลินตันต้องการเห็นเศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตขึ้นโดยชนชั้นกลาง นโยบายจึงมุ่งไปที่การเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ การสร้างงานจากกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน ภาคการผลิต และโอกาสที่มากขึ้นจากโครงการพลังงานสะอาด ขณะที่ผู้ร่ำรวยจะถูกเก็บภาษีเพิ่ม ซึ่งตรงข้ามกับนโยบายของทรัมป์ ที่ต้องการเก็บภาษีผู้ร่ำรวยน้อยลง และมุ่งมั่นที่จะนำงานมาให้คนอเมริกันภายใต้แคมเปญ “ทำอเมริกาให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” (Make America Great Again) โดยทรัมป์ มองว่า ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจของเขานี้ โดยเฉพาะการลดภาษีจะทำให้จีดีพีของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้สาธารณะ

“ถึงตรงนี้ผมคิดว่า นโยบายเศรษฐกิจของตัวแทนผู้สมัครทั้ง 2 คน ค่อนข้างเป็นที่กังขา หากยึดข้อมูลบนพื้นฐานของการคาดการณ์จากสำนักงบประมาณของสหรัฐฯ ในอีก 30 ปีข้างหน้า จะพบว่า ยอดขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 2.9% ของจีดีพีมาเป็น 8.8% ของจีดีพี โดยการใช้จ่ายด้านประกันสังคมจะขยับขึ้นจาก 4.9% ของจีดีพีในปัจจุบันเป็น 6.3% ของจีดีพี ขณะที่การใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพจะขยับขึ้นจาก 5.5% ของจีดีพีในปัจจุบันเป็น 8.9% ของจีดีพี ตรงจุดนี้ชี้ให้เห็นว่า ในอนาคตนั้น รายจ่ายภาครัฐมากกว่าครึ่งจะเกี่ยวข้องกับสิทธิ/ข้อผูกพัน ซึ่งหนีไม่พ้นว่าหนี้สาธารณะจะต้องสูงขึ้น ถ้ารัฐบาลไม่หาหนทางขึ้นภาษี หรือลดรายจ่ายอื่นลง ไม่ว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านการคลังในอนาคตทั้งสิ้น ปัญหาการคลังอาจปะทุขึ้น ถ้าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลักมาจากคนละพรรคกันกับประธานาธิบดี ซึ่งเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะปิดหน่วยงานราชการสหรัฐฯ (Government Shutdown) ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2556 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน และภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ”

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ หากมีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล บริษัทจะสามารถผลักภาระภาษีไปให้แรงงานได้ผ่านการลดค่าจ้าง ในทางกลับกัน หากทรัมป์ มีนโยบายลดภาษีให้ธุรกิจ ก็คาดว่าจะสามารถช่วยคนงานที่มีรายได้น้อยได้ผ่านการจ้างงาน และการเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เร่งแรงขึ้นได้จนภาระหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มไม่สูง

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการไหลกลับของเงินทุนไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เงินเยน หรือทองคำ ในระหว่างที่เกิดภาวะความไม่แน่นอนของตลาดการเงินโลกโดยเฉพาะในกรณีที่ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ในทางกลับกัน หากคลินตัน ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ก็มีความเป็นไปได้ว่า นักลงทุนจะมีความต้องการสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่คาดว่าความผันผวนนั้น จะเป็นเพียงชั่วคราว เพราะตลาดจะให้น้ำหนักกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในช่วงกลางเดือนธันวาคมต่อไป ซึ่งทางสำนักวิจัยมองเงินบาทปลายปีนี้ที่ระดับ 35.50 ในกรณีคลินตัน และ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในกรณีทรัมป์เป็นประธานาธิบดี

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย สำนักวิจัยคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคมตามที่คาดการณ์เอาไว้ แม้หากทรัมป์ ได้รับการเลือกมาเป็นประธานาธิบดี และส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนก็ตาม เนื่องจากเชื่อว่าเฟดจะดูปัจจัยพื้นฐานในประเทศเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการจ้างงานที่ดีขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น และการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน เพราะหากพูดแล้วไม่ทำตามคำพูดก็จะเสียความน่าเชื่อถือได้ มองต่อไปอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปีหน้าก็มีโอกาสขยับขึ้นต่อเนื่องได้ เพียงแต่ไม่น่าเร่งตัวแรง โดยนโยบายเศรษฐกิจของทั้งทรัมป์ และคลินตัน น่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ โตได้ดีกว่าในปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ระดับอัตราดอกเบี้ยอาจแตกต่างกันในกรณีของทรัมป์ และคลินตัน โดย สำนักวิจัยมองว่า นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ น่าจะสามารถเร่งการเติบโตในระยะสั้นได้ดีกว่า แม้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อภาระหนี้ในระยะยาวก็ตาม ซึ่งอาจทำให้อัตราดอกเบี้ยปลายปีหน้าขยับสูง 2 ครั้ง ไปอยู่ที่ระดับ 1.00-1.25% แต่หากคลินตันได้รับเลือก อัตราดอกเบี้ยอาจขยับขึ้นได้เพียงครั้งเดียวอยู่ที่ 0.75-1.00% ปลายปีหน้า

“สำหรับอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น สำนักวิจัยมองว่า ยังไม่น่าจะขยับขึ้นตามสหรัฐฯ แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว แต่ก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่การลงทุนภาคเอกชนยังอ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ทั้งนี้ นักลงทุนอาจติดตามตัวเลขเศรษฐกิจไทยเพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางสำนักวิจัยมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะคงที่ระดับ 1.50% ต่อปีจนถึงปลายปีหน้า” นายอมรเทพ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น