xs
xsm
sm
md
lg

คลังยัน ศก.ไทยยังแข็งแกร่ง ขณะที่ ครม.อัดฉีด 1.87 หมื่น ล. เข้าหมู่บ้าน สั่งจบใน 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” สยบข่าว ศก.ทรุด ลั่นทิศทางยังมีการขยายตัว สะท้อนจากตัวเลขสำคัญ ทั้งการบริโภคภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งการดำเนินนโยบายการคลัง และการเงินที่ต่อเนื่อง ยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้ ศก.ไทยขยายตัวได้ ปลัด “คลัง” ย้ำชัด ศก.ไทยแข็งแกร่งของจริง สามารถรองรับความผันผวนต่างๆ ได้ แต่ยังเฝ้าระวังใกล้ชิด พร้อมออกมาตรการเสริมหากจำเป็น ด้าน ครม.ไฟเขียวงบกลางปี 60 วงเงิน 1.87 หมื่นล้านบาท อัดฉีดเงินเข้า 7.46 หมื่นหมู่บ้าน แห่งละ 2.5 แสนบาท เร่งลงทุนเพื่อให้เกิดสาธารณะประโยชน์ พร้อมมอบ มท.จี้การใช้จ่ายให้จบภายใน 3 เดือน

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีมีผู้กังวลเศรษฐกิจไทยปลายปีจะทรุดหนัก เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศลดต่ำลงตามรายได้ประชาชนที่ลดลง การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ และจำนวนนักท่องเที่ยวมีปริมาณลดลงมากว่า ข้อมูลดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่เดือนกันยายน 2559 ที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 ต่อปี ตามรายได้ของเกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากรายได้เกษตรกรที่แท้จริงเดือนกันยายน 2559 ที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี

สำหรับยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่เดือนกันยายน 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี โดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.2 ต่อปี นอกจากนี้ ประชาชนยังคงมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทย สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือนกันยายน 2559 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 63.4 โดยเป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นใจในการใช้จ่ายของผู้บริโภคในระยะต่อไป

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐบาลในการสนับสนุนการลงทุนในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเดือนมกราคม-กันยายน 2559 การขอรับการส่งเสริมใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าทั้งสิ้น 157,800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมโดยรวม โดยเป็นการขอรับการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน 42.0 พันล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตร 38,500 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 28,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 23,000 ล้านบาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยว 13,100 ล้านบาท และอุตสาหกรรมการแพทย์ 5,200 ล้านบาท

ด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศล่าสุด พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนกันยายน 2559 (ข้อมูลเบื้องต้นจากกรมการท่องเที่ยว) มีจำนวน 2.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 17.8 ต่อปี ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2559 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 24.8 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.4 ต่อปี สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 1,230.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.1 ต่อปี ทั้งนี้ จากการติดตามข้อมูลเบื้องต้นช่วงวันที่ 1-16 ตุลาคม 2559 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินมาไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

สำหรับไตรมาส 4 ปี 2559 การดำเนินนโยบายการคลัง และการเงิน ยังคงมีความต่อเนื่อง เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในช่วงที่เหลือของปี โดยปัจจุบัน กระทรวงการคลังยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน และมีเม็ดเงินที่จะอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐในไตรมาส 4 ปี 2559 โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ระยะเร่งด่วน เพื่อสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี ให้สามารถแข่งขันได้ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 2 เป็นต้น

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็ง และมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ อีกทั้งการดำเนินนโยบายการคลัง และการเงินจากภาครัฐที่ยังคงมีความต่อเนื่อง จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในระยะต่อไปขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจล่าสุด แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ รายได้เกษตรกร และดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ ของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง พร้อมรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้ ภาพรวมเศรษฐกิจมีเสถียรภาพสูงทั้งภายใน และภายนอก โดยเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงานที่ต่ำ อีกทั้งระบบการเงิน และสถาบันการเงินก็มีเสถียรภาพ และมั่นคง

ขณะที่ภาคการคลังมีระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ร้อยละ 60 ของจีดีพีอยู่มาก นอกจากนี้ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายนอกก็มีความมั่นคงจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง

สำหรับการดำเนินนโยบายการคลัง และการเงิน ยังคงมีความต่อเนื่องมุ่งสู่ประเทศไทย 4.0 โดยเน้นมาตรการที่ดูแลทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึง super cluster ขนาดใหญ่ เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจ Startup การส่งเสริมการลงทุนจากทั้งภายใน และภายนอกประเทศ การส่งเสริมนวัตกรรม และการวิจัยพัฒนา การส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิตอล และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง

นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญในมิติอื่นๆ ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาลอีกด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน และมีเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการสนับสนุนการเบิกจ่ายของภาครัฐในไตรมาสที่ 4 ปี 2559 โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ และโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่เกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมั่นใจว่า แรงส่งทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา จะช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่น พร้อมรองรับความผันผวนทางเศรษฐกิจได้

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการคลังที่มีความต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ จึงทำให้มั่นใจได้ว่า เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังจะติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินมาตรการการคลังการเงิน

ขณะที่ พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการยกระดับศักยภาพหมู่บ้าน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ ประจำปีงบประมาณ 2560 โดยได้อนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น จำนวน 1.87 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว โดยแบ่งเป็นงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปแก่หมู่บ้านเพื่อกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์ จำนวน 1.86 หมื่นล้านบาท และค่าดำเนินโครงการตามที่ได้รับประสานจากกระทรวงมหาดไทย อีก 96.25 ล้านบาท

โดยวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อพัฒนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ภูมิภาคผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน และการดำเนินกิจการสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้าน จำนวน 7.46 หมื่นหมู่บ้าน แห่งละ 2.5 แสนบาท โดยมอบหมายให้กรมบัญชีกลางกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีปฏิบัติในการเบิกจ่ายเงินสำหรับโครงการให้เป็นไปโดยสะดวกรวดเร็ว และถูกต้อง โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 3 เดือน

พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณร่วมกันจัดทำคู่มือดำเนินโครงการ โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น