ณ ขณะนี้ประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด เห็นจะเป็นผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่บรรลุข้อตกลงในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งขึ้นที่ประเทศแอลจีเรียเมื่อวานนี้ โดยที่ประชุมมีมติปรับลดการผลิตน้ำมันลงสู่ระดับ 32.5-33.00 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันที่ระดับ 33.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน และนับเป็นข้อตกลงแรกของโอเปกที่จะลดการผลิตนับตั้งแต่ปี 2008 และหนุนราคาน้ำมันปิดพุ่งขึ้นเกือบ 6% เมื่อวานนี้
ผลจากการบรรลุข้อตกลงในการปรับลดการผลิตน้ำมันส่งผลต่อเนื่องต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่นกัน โดยดัชนีหุ้นกลุ่มพลังงานพุ่งขึ้นถึง 4.34% ขณะที่เช้านี้ตลาดหุ้นเอเชียส่วนใหญ่ปรับตัวขึ้นถ้วนหน้าตามการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน เนื่องจากการบรรลุข้อตกลงดังกล่าวทำให้นักลงทุนต้องการสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ซึ่งปัจจัยนี้กดดันราคาทองคำซึ่งอยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวไม่ได้ส่งผลแค่ในทางลบเท่านั้น เพราะการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันทำให้ดอลลาร์ร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งการอ่อนค่าของดอลลาร์ช่วยพยุงราคาทองคำไม่ให้ปรับตัวลงมากนัก
ทั้งนี้ แนวโน้มของราคาน้ำมันในอนาคตจะเป็นอย่างไรนั้นอาจจะต้องจับตาต่อเนื่องถึงอุปสงค์การบริโภคน้ำมันรวมทั้งอุปทานน้ำมันในตลาด ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ ออกมาแสดงความเห็นว่า การบรรลุข้อตกลงของผู้ผลิตในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เพื่อจำกัดการผลิตน้ำมันนั้นน่าจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้น 7-10 ดอลลาร์ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แต่โกลด์แมน แซคส์ ยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในไตรมาส 4 ที่ระดับ 43 ดอลลาร์/บาร์เรล จากเดิมคาดการณ์ที่ 50ดอลลาร์/บาร์เรล และคาดการณ์ราคาน้ำมันโดยเฉลี่ยในปีหน้าที่จะอยู่ที่ระดับ 52 ดอลลาร์/บาร์เรล
สิ่งหนึ่งที่น่าจับตามองคือ ข้อตกลงปรับลดการผลิตน้ำมันยังไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดว่า ประเทศสมาชิกโอเปกแต่ละประเทศจะผลิตน้ำมันในปริมาณเท่าใด ซึ่งประเด็นนี้จะได้รับการตัดสินใจในการประชุมกลุ่มโอเปกอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 พ.ย. โดยอาจจะมีการเชิญรัสเซีย และประเทศผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกประเทศอื่นๆ ให้เข้าร่วมในมาตรการปรับลดการผลิตด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดหากมีข้อขัดแย้งกันอาจจะส่งผลกดดันราคาน้ำมันในอนาคตได้เช่นกัน