รบ.ร่วมขับเคลื่อนประชารัฐเพื่อสังคมดูแลผู้สูงอายุ รองนายกฯ ศก.สั่ง “ขุนคลัง” ศึกษาออกพันธบัตรเพื่อดูแลสังคม Social Impact Bond หรือ Social Investment Bond โดยมีรัฐรับประกันการออกพันธบัตร ส่วนภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนการซื้อพันธบัตรที่รับประกันโดยภาครัฐ และได้รับเงินคืนเมื่อครบสัญญาพร้อมดอกเบี้ย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในเวที “ประชารัฐเพื่อสังคม” โดยมีตัวแทนภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมประชุม โดยระบุว่า เพื่อดูแลสังคมผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีเครื่องมือดูแลผ่านหลายมาตรการ ซึ่งขณะนี้ลงนามเห็นชอบข้อเสนอของกระทรวงการคลัง ออกมาตรการดูแลสังคมผู้สูงอายุ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้ เช่น การตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อให้ผู้มีอาชีพอิสระสมัครเป็นสมาชิกสะสมเงินออมระยะยาวในกองทุน กบช. เพื่อรับเงินบำนาญใช้ในยามเกษียณ การจัดทำที่อยู่อาศัยผ่านหลายโครงการ เช่น การเคหะแห่งชาติ (กคช.) นำบ้านออกจำหน่าย หากใครให้พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายายอาศัยอยู่ด้วย จะลดราคาให้เป็นพิเศษ และถูกเลือกให้เป็นอันดับแรก
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการภาษีดึงดูดให้ภาคเอกชน หรือหน่วยงานต่างๆ จ้างผู้สูงอายุทำงาน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เอกชนร่วมดูแลผู้สูงอายุ รัฐบาลจึงต้องการผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ภาคเอกชนมีกำลัง มีเครื่องมือ จึงอยากให้เข้ามามีส่วนร่วมครั้งนี้ จึงเป็นการรับฟังข้อมูลจากภาคประชาสังคม เพื่อเสนอประเด็นที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ขณะที่ภาครัฐจะร่วมสนับสนุน อาทิ ให้มีมาตรการทางภาษีสนับสนุนกรณีการจ้างงานผู้สูงอายุ เป็นต้น
นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส กล่าวว่า การดูแลสังคมผู้สูงอายุเมื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพควรมีความร่วมมือจากหลายองค์กรร่วมกันจัดการ หลังจากที่ผ่านมา หลายรัฐบาลพยายามดูแลภาคสังคม จึงต้องอาศัยกลไกต่างๆ ร่วมกันขับเคลื่อน ทั้งการดูแลผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด ผ่านการส่งเสริมการเรียนรู้ในพื้นที่ 80,000 หมู่บ้าน และร่วมกับมหาวิทยาลัยให้ความรู้ด้านต่างๆ จึงเสนอให้ตั้งคณะกรรมการอิสระช่วยขับเคลื่อน “ภาคีธุรกิจเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” เพราะเป็นเครื่องมือทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ดีอีกแนวทางหนึ่งในต่างประเทศ
นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การให้ภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนกิจกรรม ร่วมบริหารจัดพื้นที่ และชุมชนใกล้เคียง อาทิ ในส่วนของการจ้างงานคนพิการ ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาสนับสนุนการจ้างงานคนพิการเพื่อทำงานสาธารณประโยชน์ใกล้บ้านในอัตรา 1 ต่อ 100 ตาม ม.33 หรือส่งเสริมอาชีพคนพิการตาม ม. 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนพิการ 1.9 ล้านคน ลงทะเบียน 1.56 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการไม่มีงานทำร้อยละ 46 หรือ 352,859 ล้านคน
“หากภาคเอกชนเข้าร่วมสนับสนุนจ้างงานผู้พิการได้ตามเป้าอย่างน้อย 10,000 คน จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ถึง 1,000 ล้านบาท จึงอยากให้มีการเริ่มต้นนโยบายประชารัฐด้านสังคมอย่างจริงจัง และมีหลายเรื่องที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามาร่วมผลักดัน เช่น การผลักดันการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข แต่หากให้เฉพาะหน่วยงานดูแลก็มีกำลังน้อย”
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุพบว่า อีก 12 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 14.4 ล้านคน จากปัจจุบัน 9.9 ล้านคน และมีสัดส่วน 1 ใน 10 ถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง และดูแลตัวเองได้ดีประมาณ 8 ล้านคน ขณะที่ผู้สูงอายุร้อยละ 34.3 มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน หรือ 2,572 บาทต่อคนต่อเดือนในปี 2557 ขณะที่กระทรวงการคลัง ต้องใช้งบประมาณดูแลผู้สูงอายุ 18 ล้านล้านบาทในปี 2606 และภายใต้โครงสร้างการบริโภคในปี 2554 ผู้สูงอายุต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 2.03 ล้านบาทต่อคน จึงจะเพียงพอต่อการดำรงชีวิตได้จนถึงอายุ 80 ปี
ดังนั้น ที่ประชุมจึงเสนอสร้างเครือข่ายงานผู้สูงอายุระดับตำบล ผ่าน 4 เสาหลัก โดยมีภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์กรท้องถิ่นร่วมกันดูแลผ่านศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพอส.) นำร่องไปแล้ว 152 แห่ง ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2,616 แห่ง เพื่อดูแลประชากร 6.39 ล้านคน มาร่วมมือ เช่น บริษัท มิตรผลร่วมช่วยเหลือกับเครือข่ายรับซื้ออ้อย และช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในอำเภอภูเขียว รวมทั้งเสนอการส่งเสริมระบบการคลังเพื่อสังคมในการสร้างความเข้มแข็งกับภาคประชาชน และวิสาหกิจชุมชนผ่านการระดมทุนพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Impact Bond,Social Investment Bond) โดยมีภาครัฐรับประกันการออกพันธบัตร ภาคเอกชน เป็นผู้ลงทุนการซื้อพันธบัตรรับประกันโดยภาครัฐ และได้รับเงินคืนเมื่อครบสัญญาพร้อมดอกเบี้ย เมื่อนำเงินไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายให้เกิดประโยชน์
รวมทั้งมีข้อเสนอประชารัฐเพื่อสังคม ยอมรับว่าประชาชนบริจาคผ่านวัด โรงเรียน หรือองค์กรต่างๆ ประมาณ 170,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อช่วยเหลือสังคม แต่เป็นเงินกระจายอย่างไม่มีระบบ จึงเสนอให้ออกพันธบัตรเพื่อเปลี่ยนแปลงทางสังคม ขณะที่ประเทศไทยรัฐบาลต้องจ่ายเงินในการดูแลผู้ต้องขัง 14,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนในต่างประเทศออกพันธบัตรเพื่อดูแลสังคม ปัจจุบันออกพันธบัตรช่วยเหลือสังคมไปแล้ว 15 ประเทศ หากออกจากคุกแล้วมาทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ทำให้อัตราการก่อเหตุลดลงไม่กลับเข้าคุกอีกครั้ง นับว่าช่วยลดภาระให้กับรัฐบาลในอังกฤษได้อย่างดี ที่ประชุมจึงมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปศึกษาแนวคิดดังกล่าว