xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรสื่อ-เอกชน สานพลังประชารัฐจ้างงานคนพิการ แรงงาน-พม.เชื่อลดเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“6 องค์กรวิชาชีพ-200 องค์กรเอกชน” ผนึกกำลังสานพลังประชารัฐ จ้างงานคนพิการในปีนี้หมื่นอัตรา ขณะที่ “แรงงาน-พม.” มั่นใจช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่าพันล้าน ด้าน “สสส.-มูลนิธินวัตกรรมฯ” เร่งสานความร่วมมือผู้จ้าง-คนพิการ ชูคำขวัญ “ทำได้ ทำง่าย ไม่ต้องรอ” ตั้งเป้าจ้างคนพิการ 3 พันอัตรา

วันนี้ (21 ก.ค.) พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รมว.แรงงาน และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมเป็นประธานงานประกาศความร่วมมือในโครงการ “สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ในฐานะองค์กรตัวกลางที่สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการ และภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านคนพิการอีกกว่า 20 องค์กร โดยมีภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนให้เกิดการจ้างงานคนพิการในงานนี้กว่า 200 องค์กร

พล.อ.ศิริชัยกล่าวว่า กระทรวงฯ พร้อมขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล “ประชารัฐ” ที่เน้นบูรณาการพลังร่วมจากทุกภาคส่วนและสนับสนุนการจ้างงานและการส่งเสริมอาชีพคนพิการมิติใหม่ โดยอำนวยความสะดวกแก่ภาคธุรกิจในการปฏิบัติตามกฎหมายจ้างงานตามมาตรา 33 ซึ่งสถานประกอบการไม่เพียงแต่จ้างคนพิการทำงานตรงกับบริษัท แต่ยังสามารถจ้างคนพิการให้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะในชุมชนหรือภูมิลำเนาได้ และยังส่งเสริมอาชีพตามมาตรา 35 ที่บริษัทสามารถให้การสนับสนุนคนพิการที่มีความต้องการประกอบอาชีพอิสระได้ โดยกระทรวงฯ ได้มอบนโยบายนี้แก่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เพื่อสนับสนุนให้เกิดจ้างงานคนพิการได้ 10,000 อัตราภายในสิ้นปีนี้

ขณะที่ พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า กระทรวงฯ มีบทบาทโดยตรงในการประสานนโยบายร่วมกับทุกหน่วยงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นำไปสู่ความเท่าเทียม และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าสามารถร่วมมือกันขับเคลื่อนการจ้างงานคนพิการให้ได้ตามเป้าหมาย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากถึง 1,000 ล้านบาท เพราะตามกฎหมายได้กำหนดให้สถานประกอบการรับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนลูกจ้างต่อคนพิการ 100:1 ทำให้มีจำนวนคนพิการที่สถานประกอบการต้องจ้าง 55,283 ตำแหน่ง ขณะที่สถานประกอบการปัจจุบันสามารถจ้างงานคนพิการได้เพียง 34,383 ตำแน่ง คิดเป็นร้อยละ 62 เท่านั้น และหากสถานประกอบการใดไม่สามารถจ้างคนพิการได้ครบก็จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในอัตรา 109,500 บาทต่อคนต่อปี

ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.โดยแผนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะได้สนับสนุนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแบบครบวงจร ภายใต้มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม โดยได้ริเริ่มและเชื่อมประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนจนเกิดการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการกว่า 1,277 อัตราในปี 2559 โดยความร่วมมือของบริษัทเอกชน 88 องค์กร ถือเป็นมิติใหม่การจ้างงานและสร้างอาชีพคนพิการ ทำให้คนพิการเข้าถึงโอกาสในการทำงาน ทั้งงานสาธารณะประโยชน์ รวมถึงการพัฒนารูปแบบการทำงานจิตอาสารณรงค์ให้ความช่วยเหลือคนพิการที่อดีตเป็นจิตอาสาสู่การเป็นอาชีพนักพัฒนาสังคมและนักรณรงค์ที่มีลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน (พิการ) ทำให้คนพิการได้ทำงานที่มีคุณค่า พร้อมกับการมีรายได้ มีอิสระมีศักดิ์ศรีและพึ่งพาตนเองได้ ขณะที่บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต่างมีความพึงพอใจต่อผลงานของคนพิการ และรู้สึกภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม

นายอภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมกล่าวว่า ผลจากการเชื่อมต่อผู้จ้างอันและคนพิการผ่านองค์กรภาคีภาคสังคมกลุ่มต่างๆ รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับภาครัฐทั้งสองกระทรวงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมีความพร้อมที่จะร่วมกันขยายผลให้เกิดการจ้างงานตาม โครงการ “สานพลังสู่มิติใหม่ สร้างงาน สร้างอาชีพคนพิการ 10,000 อัตรา” ด้วยคำขวัญ “ทำได้ ทำง่าย ไม่ต้องรอ” จากความร่วมมือของ 6 องค์กรวิชาชีพชั้นนำของประเทศ ได้แก่ หอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย รวมทั้งบริษัทเอกชนที่มาร่วมงานในวันนี้กว่า 200 องค์กร ทำให้สามารถคาดหวังเป้าหมายในเบื้องต้น ว่าจะเกิดโอกาสการจ้างงานและส่งเสริมอาชีพคนพิการในงานนี้ไม่น้อยกว่า 3,000 อัตรา จาก 10,000 อัตราที่เป็นเป้าหมายร่วมภายในสิ้นปีนี้ผลิตสื่อของคนหูหนวก เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น