ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป มองแนวโน้มยอดขายไก่-หมู ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ดันยอดขายทะลุเป้า 20,000 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เผยครึ่งแรกปี 2559 พลิกมีกำไรกว่า 872 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขาดทุน 1,570 ล้านบาท อานิสงส์มีการจัดทัพใหม่ ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-ปรับพอร์ตการขายเนื้อสัตว์แปรรูป เข้าสู่ตลาดที่มีกำไรสูง ขยายตลาดทั้งใน และต่างประเทศ หนุนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน
นายเชิดศักดิ์ กู้เกียรตินันท์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป หรือ TFG กล่าวว่า ผลประกอบการในงวดครึ่งปีแรกของปี 2559 พลิกมาเป็นกำไรสุทธิถึง 872 ล้านบาท จากที่ขาดทุนสุทธิ 1.57 พันล้านบาท ในปี 2558 สาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทฯ ได้มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ทั้งในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต ในทุกห่วงโซ่ สร้างมูลค่า Feed Farm Foods โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดค่าใช้จ่ายการผลิตอาหารสัตว์ ค่าชำแหละไก่โดยตรง ลดต้นทุนวัตถุดิบ ใช้วัสดุทดแทน ลดค่าใช้จ่ายบริหาร ขณะเดียวกัน ยังได้มีการปรับกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้ โดยการปรับพอร์ตการขายไก่ หมู เข้าสู่ส่วนตลาดที่มีกำไรสูงขึ้น เช่น ส่งออก อุตสาหกรรม สาขา ผลิตไส้กรอกไก่ ใช้ชิ้นส่วนได้ราคาดีขึ้น เป็นต้น หาช่องทางจำหน่ายที่ยั่งยืน และสร้างกำไรขั้นต้นให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับลดค่าใช้จ่ายบริหารลงกว่า 25% จากการจัดองค์กรให้กระชับขึ้น ใช้ฝ่ายจัดการน้อยลง ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตไก่ หมู ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ราคาไก่ และหมูสูงขึ้นเลยได้สองต่อ
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไก่ในปัจจุบัน มีผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดประมาณ 10 ราย การแข่งขันสูงมาก โดย TFG ครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เกตแชร์) อันดับ 3-4 หรือประมาณ 9% ของมูลค่าตลาดรวม ซึ่งในขณะนี้ดีมานด์เพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการขาดแคลนในประเทศใหญ่ เช่น จีน ทำให้สินค้าไม่เข้าญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นสั่งสินค้าไทยมากขึ้น มาเลเซียเพิ่มห้ามนำเข้าจากจีน จึงหันมาซื้อจากไทยแทน ราคาสูงขึ้นมาก เมื่อราคาสินค้าส่งออกดีขึ้น ก็มีผลกระทบให้ราคาในประเทศสูงขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมการปศุสัตว์เลี้ยงหมู โครงสร้างยังคงเป็นรายย่อยมากกว่า 80% รายใหญ่อยู่ที่ 20% โดย TFG ครองมาร์เกตแชร์อันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 4% ของมูลค่าตลาดรวม โดยปัจจุบันมีความต้องการจากประเทศจีนสูงขึ้นมาก เนื่องจากผลิตในประเทศไม่พอ จึงมีการส่งออกไปจีนมาก ประกอบกับเกิดภาวะโรค ทำให้หมูขาดในประเทศ ผลรวม คือ ราคาสูงขึ้นจาก 50 บาทไปจนถึง 70 บาท ตอนนี้ชะลอเล็กน้อยอยู่ประมาณ 66 บาท เป็นผลให้สามารถสร้างรายได้ และกำไรได้สูง เนื่องจากต้นทุนต่ำ
สำหรับแนวโน้มราคาเฉลี่ยหมู และไก่ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ และทิศทางในปี 2560 คาดว่า อาจจะมีขึ้นลงตามภาวะดีมานด์ของตลาดปกติบ้าง แต่จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ต่อไปอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากรอบเลี้ยงสุกรใช้เวลานาน ส่วนราคาไก่ก็คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้อีกประมาณ 1 ปี เช่นเดียวกัน เนื่องจากจีนมีการนำเข้าลดลง อย่างไรก็ตาม การผลิตในประเทศยังคงขาดแคลน จึงทำให้ราคายังคงทรงตัว
“มั่นใจว่าแนวโน้มรายได้รวมในปีนี้จะทะลุ 20,000 ล้านบาท ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามเป้าหมายที่วางไว้ และรักษาระดับอัตรากำไรสุทธิในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับอานิสงส์จากยอดขายที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทั้งในส่วนของตลาดในประเทศ และตลาดต่างประเทศ”